นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เปิดเผยว่า กรณีที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐนั้นในการเสนอชื่อดังกล่าวต้องยื่นเอกสารตามที่ กกต. กำหนด 2 แบบ คือแบบ ส.ส. 4/29 ที่หัวหน้าพรรคต้องลงนามรับรองว่า การคัดเลือกได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและข้อบังคับของพรรคการเมืองแบบ ส.ส. 4/30 ที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องลงนามรับรองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 91(1) พบว่า การเสนอชื่อบุคคลคือ พล.อ. ประยุทธ์นั้น จะต้องให้ พล.อ. ประยุทธ์มีหนังสือยินยอมก่อน และข้อ 91 วรรคสองระบุไว้ว่าการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐพิจารณาคัดเลือก พล.อ. ประยุทธ์ไปก่อนที่จะมีหนังสือยินยอม กล่าวคือ ประชุมเห็นชอบเสนอชื่อพล.อ. ประยุทธ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้ยินยอมและตอบรับการเสนอชื่อเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ดังนั้นกรณีจึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 91 วรรคสอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ มีหนังสือยินยอมภายหลัง นั่นเอง กรณีนี้จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค
นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ยังอาจเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) (12) และ (15) อีกด้วย เนื่องจากมาตรา 98 (3) ห้ามเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใดๆ แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกร้องว่าเป็นเจ้าของสื่อออนไลน์หลายชนิด และ พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15)
โดยนายเรืองไกร จะนำข้อมูลที่พบไปร้องต่อ กกต. ในวันที่ 11 ก.พ. นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อให้ กกต. พิจารณาไม่ประกาศรายชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ตามแบบ ส.ส. 4/31 เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรค และเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ