ไม่พบผลการค้นหา
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหาร หลังจากหลายประเทศแถบยุโรปเริ่มควบคุมไขมันทรานส์มานับสิบปี ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าว่าปี 2566 ต้องไม่มีการใช้ไขมันทรานส์เกินปริมาณที่กำหนดในอาหาร แต่จะเป็นจริงได้ต้องทำอย่างไร?

WHO ประกาศแนวปฏิบัติแก่ประเทศสมาชิกทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหารภายใน 5 ปีต่อจากนี้ หลังจากผลวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์เป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น

แถลงการณ์ของ WHO ซึ่งเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า การบริโภคไขมันทรานส์ทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 500,000 คนทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด และผู้ที่บริโภคไขมันทรานส์เป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริโภคไขมันทรานส์ WHO จึงคาดหวังว่า มาตรการลดและควบคุมการบริโภคไขมันทรานส์จะช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้เกิดกับผู้บริโภคทั่วโลกได้

WHO เสนอให้แต่ละประเทศใช้แนวปฏิบัติที่มีชื่อว่า REPLACE ซึ่งเริ่มจากการสำรวจว่าอาหารประเภทใดบ้างในอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์ พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกฎหมายควบคุมการใช้ไขมันทรานส์ประกอบอาหาร รวมถึงบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือผู้ที่เพิกเฉยต่อมาตรการกำจัดหรือลดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารของแต่ละประเทศ และเสนอแนวทางที่จะหาสิ่งอื่นมาทดแทนไขมันทรานส์ด้วย

กรณีของประเทศไทย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณาสุข เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีสาระสำคัญ คือ ห้ามนำผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) เป็นส่วนประกอบ โดยให้ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศ ซึ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปีหน้า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2562

โรคหัวใจ.jpg

กว่าจะรู้ว่าเป็นภัยก็ต้องใช้เวลานานเกือบศตวรรษ

'ปอล ซาบาติเยร์' นักเคมีชาวฝรั่งเศส และ 'วิกตอร์ กรีญาร์ด' ร่วมกันรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 2455 จากการคิดค้นกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในน้ำมันพืช ทำให้กลายเป็นกรดไขมันทรานส์ ซึ่งถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารในโลกตะวันตกช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่ 'เอลีนอร์ รูสเวลต์' อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ เคยสนับสนุนให้ชาวอเมริกันใช้มาร์การีนหรือเนยเทียมที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมแทนเนยจริงมาแล้ว 

จนกระทั่งมีผลวิจัยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงชัดเจนว่าการบริโภคไขมันทรานส์มีส่วนทำให้เกิดคอเลสเตอรอล LDL หรือไขมันชนิดเลวในร่างกายผู้บริโภค เมื่อมีปริมาณไขมันดังกล่าวสะสมมากในร่างกาย จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบ รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ

ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับไขมันทรานส์ ได้แก่ เดนมาร์ก ออสเตรีย ฮังการี ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ชิลี เอกวาดอร์ สิงคโปร์ ลัตเวีย สโลวีเนีย สวีเดน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงไทย 

มาตรการควบคุมไขมันทรานส์ที่ได้จากการสังเคราะห์ มีทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและผู้ประกอบการร้านอาหารลดและเลิกการใช้ไขมันทรานส์ลง รวมถึงกำหนดให้อาหารที่มีปริมาณไขมันทรานส์ตั้งแต่ร้อยละ 0.01-2.00 ของปริมาณแคลอรีต่อหนึ่งหน่วยบริโภคต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากอาหารว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้น 'ไม่ปลอดภัย' หรือ Not Safe สำหรับการบริโภคอย่างต่อเนื่อง 

AP-อาหาร-พีชเค้ก-เค้ก-cake-ขนม-เบเกอรี่-food-bakery

บทเรียนจากสหรัฐฯ ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะลด 'ไขมันทรานส์' ได้

สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ประกาศให้อุตสาหกรรมอาหารลดการใช้ไขมันทรานส์ในขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ปี 2559 แต่กำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ปรับตัว ซึ่งกระบวนการปรับสูตรอาหารส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งเคลล็อกซ์, เจเนอรัล มิลส์ และแมคโดนัลด์ ต่างยืนยันว่าการปรับสูตรไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติและกลิ่นอาหาร ทำให้ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในท้องตลาดทั่วประเทศสหรัฐฯ ลดลงถึงร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตาม เจ้าของผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น แป้งพาย ข้าวโพดอบเนย แครกเกอร์ ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันกับสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ขอขยายเวลาอีก 1 ปีเพื่อหาสิ่งที่จะนำมาใช้แทนไขมันทรานส์ เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้ระบุว่าการเปลี่ยนสูตรไม่ให้ใช้ไขมันทรานส์ส่งผลกระทบต่อรสชาติและคุณภาพของอาหาร ซึ่งทางการสหรัฐฯ ยอมขยายเวลาให้เป็นรายกรณี

ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเมื่อปี 2557 ระบุว่า 'อียิปต์' เป็นประเทศที่มีการบริโภคไขมันทรานส์มากที่สุดในโลก ตามด้วยปากีสถาน แคนาดา เม็กซิโก และบาห์เรน ขณะที่กลุ่มประเทศยากจนและรายได้ปานกลางอีกหลายประเทศยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการใช้ไขมันทรานส์ แต่หากมีการห้ามใช้ไขมันทรานส์อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง จึงมีความจำเป็นจะต้องพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการห้ามใช้ไขมันทรานส์

นอกจากนี้ เว็บไซต์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังเตือนด้วยว่า การประกาศยกเลิกไขมันทรานส์อาจทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้น และการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะมีการเผาพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปรับหน้าดิน ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษอีกด้วย

ที่มา: Fortune/ Telegraph/ Tree Hugger/ Washington Post/ WHO

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: