ไม่พบผลการค้นหา
"รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"  เป็นคำประกาศชอง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวด้วยความมั่นใจ พร้อมแจกแจงยุทธศาสตร์วางหมากสู้ศึกเลือกตั้งใน 350 เขตเลือกตั้ง เตรียมกวาดส.ส. 150 คน จากทั้งหมด 500 คน ใน "สภาล่าง" เพื่อรอผสมกับ "องครักษ์" ใน "สภาสูง" ที่รัฐธรรมนูญ 2560 "ดีไซน์แต้มต่อ" ให้ "250 ส.ว.แต่งตั้ง" มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดยหวังปูทางเข้าสูตร "คณิตศาสตร์การเมือง" ที่เปิดช่องให้ "สมาชิกรัฐสภา" ทั้ง 750 คน ร่วมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งที่ 376 เสียง จะทำให้ "นายกฯคนเดิม" เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง ในปี 2562

ห้ามลืม 250 ส.ว.ลากตั้งวาระ 5 ปี โหวตนายกฯ ได้ 2 สมัย หรือ 8 ปี

แม้รัฐธรรมนูญจะถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา-คนส่วนใหญ่-เจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่การเลือก ส.ว. จาก 10 กลุ่มวิชาชีพ ที่สุดท้ายแล้วคสช.จะจิ้มเหลือ 50 คน เพื่อไปรวมกับอีก 194 คน จากคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.แต่งตั้ง และอีก 6 คน ที่ล็อกให้ผู้นำเหล่าทัพได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และผบ.ตร ก็เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและรับรู้ เพราะห้ามลืมเด็ดขาดว่า บทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบให้ 250 ส.ว.แต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

จึงหมายความว่า อำนาจในการร่วมกับ ส.ส.เพื่อยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ "สภาแต่งตั้ง" จะคาบเกี่ยว วาระการดำรงตำแหน่งของ "สภาล่างเลือกตั้ง" ครั้งละ 4 ปี หรือ 2 เทอม ซึ่งนั่นจะทำให้ 250 ส.ว.ลากตั้ง ที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา มีส่วนร่วมในการกำหนด นายกรัฐมนตรียาวนาน 2 สมัย รวม 8 ปี ไม่นับรวมอำนาจในการกำกับตีกรอบ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. โดยสามารถยื่นคำฟ้องให้มีการถอดถอนหรือดำเนินคดีกับส.ส. ต่อทั้งศาลและองค์กรอิสระได้อย่างง่ายดาย 

เลือก 50 ส.ว. จาก 10 กลุ่มวิชาชีพ แค่พิธีกรรม

เมื่อระดับการมีส่วนร่วมแทบไม่มี กระแสความตื่นตัวของสังคมต่อการเลือก 50 ส.ว.จาก 10 กลุ่มวิชาชีพ ก็แทบไม่เกิดขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะกระบวนการเลือกนั้นเป็นเพียงแค่ "พิธีกรรม" ที่เมือเลือกกันเสร็จแล้ว ก็ต้องวนกลับไปให้ คสช.จิ้มในขั้นตอนสุดท้าย

อีกส่วนคือ รายละเอียดและกระบวนการ ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ไม่ง่ายเหมือนการเลือกตั้งส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือ 2550 ที่ไม่ต่างจากการเลือกตั้งส.ส.มากนัก

ทว่าการเลือก 50 ส.ว. จาก 10 กลุ่มวิชาชีพ จะต้องผ่านการเลือกกัน 3 ระดับคือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ภายหลังมี ประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดให้การเลือก ส.ว. เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา กกต.ในฐานะกรรมการ ก็วางคิวทำงาน นัดรับสมัครลงเลือกส.ว. ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. - วันที่ 30 พ.ย. นี้

โดยเริ่มเลือกระดับอำเภอ วันที่ 16 ธ.ค. เลือกระดับจังหวัด วันที่ 22 ธ.ค. และเลือกระดับประเทศ วันที่ 27 ธ.ค. ก่อนให้กกต.ส่งรายชื่อผู้ได้รับเลือก 200 คนสุดท้าย ให้คสช.เลือกเหลือ 50 คน ในเดือน ม.ค.2562


กกต
  • สุดซับซ้อน ให้เลือกกันเอง 2 แบบใน 10 กลุ่ม

เริ่มจากขั้นตอนการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 1.สมัครแบบอิสระ 2.สมัครแบบมีองค์กรรับรอง ตามแต่คุณสมบัติและประสบการณ์ของแต่ละบุคคลว่าเข้าข่ายใดใน 10 กลุ่มวิชาชีพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองในกลุ่มตามแต่ละวิธีที่สมัครใน 3 ระดับ

1.ระดับอำเภอทั้ง 878 แห่ง และ 50 เขตของกรุงเทพฯ ใครสมัครวิธีเดียวกันในกลุ่มวิชาชีพเดียวกันก็จะทำการเลือกกันเองจนเหลือผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 คน ในแต่ละวิธีสมัคร เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เมื่อเลือกกันเองเสร็จแล้ว จะได้ผู้ชนะในกลุ่มนี้จากวิธีการสมัครแบบอิสระและแบบองค์กรรับรอง อย่างละ 3 คน รวม 6 คน ต่อ 1 กลุ่ม จึงมีผู้ผ่านการคัดเลือกอำเภอละ 60 คน จาก 10 กลุ่ม รวมผู้ผ่านการคัดเลือกในรอบนี้คือ 55,680 คน มาจาก 878 อำเภอ 52,680 คน และ 50 เขตของกรุงเทพฯอีก 3,000 คน       

2.ระดับจังหวัด จะนำรายชื่อผู้ชนะในระดับอำเภอ มาดำเนินการเลือกกันเองในกลุ่มตามแต่วิธีที่สมัครเหมือนเดิม จนมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 4 คน ต่อกลุ่มต่อวิธีการสมัคร เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เมื่อเลือกกันเองเสร็จแล้ว ก็จะได้ผู้ชนะในกลุ่มนี้จากวิธีการสมัครแบบอิสระและแบบองค์กรรับรอง อย่างละ 4 คน รวม 8 คน ต่อ 1 กลุ่ม จึงมีผู้ผ่านการคัดเลือกจังหวัดละ 80 คน จาก 10 กลุ่ม รวมผู้ผ่านการคัดเลือกรอบนี้คือ 6,160 คน

3.ระดับประเทศ จะนำรายชื่อผู้ชนะในระดับจังหวัด มาดำเนินการเลือกกันเองในกลุ่มตามแต่วิธีที่สมัครเหมือนเดิม จนมีผู้ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 10 คน ต่อกลุ่มต่อวิธีการสมัคร เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เมื่อเลือกกันเองเสร็จแล้ว จะได้ผู้ชนะในกลุ่มนี้จากวิธีการสมัครแบบอิสระและแบบองค์กรรับรอง อย่างละ 10 คน รวม 20 คน ต่อ 1 กลุ่ม จึงมีผู้ผ่านการคัดเลือกจังหวัดละ 200 คน ต่อ 10 กลุ่ม รวมผู้ผ่านการคัดเลือกรอบนี้คือ 200 คน

เพื่อทำเป็นบัญชีให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และบัญชีสำรองอีก 50 คน ส่วนอีก 100 คนที่เหลือ ก็ไม่ต่างจากคนแพ้ในรอบแรกระดับอำเภอ อีกทั้งจุดนี้ ไม่ได้มีข้อกำหนดให้คสช. จะต้องเลือกโดยเกลี่ยสัดส่วนตามวิธีการสมัคร หรือกลุ่มวิชาชีพทั้ง 10 กลุ่ม 50 ส.ว. ที่ คสช.จิ้มอาจมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกือบทั้งหมด หรือวิธีการสมัครแบบใดแบบหนึ่งเกือบทั้งหมดเลยก็ได้ จึงทำให้ไม่อาจหาคำอธิบายได้ว่า จะออกแบบวิธีการคัดเลือกมาให้ซับซ้อนเช่นนี้ไปทำไม? 


สภา.jpg
  • "เลือกใหม่-จับสลาก2รอบ" กันบล็อกโหวตจริงแท้หรือแค่ลวงตา?

การเลือกกันเองภายในกลุ่มวิชาชีพทั้ง 10 กลุ่ม ตามแต่และวิธีการสมัครแบบอิสระและแบบองค์กรรับรอง ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามทันทีต่อ ความโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการ ฮั้ว หรือล็อบบี้การลงคะแนนเสียงกันเอง เพราะแต่ละกลุ่มต่างก็เป็นคนในแวดวงเดียวกัน ก็ดูเหมือน กกต. ในฐานะกรรมการจะไม่นิ่งนอนใจ วางมาตราการแก้ไขไว้ในระเบียบการเลือกส.ว. 2 รูปแบบ เมื่อทราบผลการะนับคะแนนในแต่ละระดับ คือ

"เลือกใหม่" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อในการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มีผู้สมัครส.ว.ในแต่ละกลุ่มและวิธีการสมัครไม่ได้รับคะแนนเลือกเลย ซึ่งต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือไม่น้อยกว่า 3 คน ของผู้สมัครในแต่ละกลุ่มและวิธีการสมัคร จึงให้จัดการเลือกกันเองใหม่ทันที พร้อมตัดสิทธิเลือกใหม่แก่ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลย

"จับสลาก2รอบ" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีผู้ได้รับเลือกคะแนนเท่ากันเกิน 3 คนในระดับอำเภอ 4 คนในระดับจังหวัด และ 10 คนในระดับประเทศ ในแต่ละกลุ่มและวิธีการสมัคร ก็ให้ดำเนินการจับสลาก โดยรอบแรก ให้ ผอ.การเลือกในแต่ละระดับ จับสลากให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเท่ากัน

เพื่อจัดอันดับให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากันว่า ใครจะได้จับสลากก่อนหลัง เหมือนการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ให้ ประธานจับว่า ใครจะได้จับสลากหมายเลขในหลักใด จากนั้นจึงจับสลากรอบที่2 สำหรับผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากัน ซึ่งสลากจะมีแค่ 2 ข้อความคือ "ได้รับเลือก" และ "ไม่ได้รับเลือก"

ก็ทำให้น่าแปลกใจว่า ความสง่างามของ "ส.ว.จับสลาก" อยู่ตรงไหน ส่วน "การเลือกใหม่" ก็แทบจะเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะการลงคะแนเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มและวิธีสมัคร เปิดช่องให้ลงคะแนนเลือกได้ 2 คน โอกาสที่จะไม่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเลือกใหม่แทบจะไม่มี        

  • สิงห์ศึกเพื่อนประยุทธ์ เบื้องหลังวางหมากคุมสภาสูง - องค์กรข้าราชการโผล่พรึ่บ!

ย้อนกลับไปเมื่อครั้ง สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ก็จะพบคำตอบแห่งความซับซ้อนต่อกลไกเลือกส.ว.

เมื่อมีสมาชิก สนช.เสนอแปรญัตติแก้ไข กระบวนการเลือกส.ว. จากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปชนิดที่ กมธ.สัดส่วนกรธ.ต้องตั้งป้อมค้าน จนต้องตั้งกมธ.ร่วม ก่อนลงตัวด้วยให้คงบทหลักตามที่ กรธ.ร่างมา ส่วนที่สนช.แก้ไขให้ไปใส่ในบทเฉพาะกาล ใช้เฉพาะ ส.ว.ชุดแรกวาระ 5 ปี

ประเด็นที่ สนช.แก้ไข ได้แก่ การลดกลุ่มวิชาชีพจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม การสมัครก็เพิ่มเงื่อนไข ให้มี 2 ประเภท ทั้งแบบอิสระและองค์กรรับรอง พร้อมรื้อหัวใจสำคัญในการเลือกที่ กรธ.ร่างให้เลือกไขว้ข้ามกลุ่ม หวังปิดช่องล็อบบี้หรือบล็อคโหวตในกลุ่มอาชีพ เป็นให้เลือกกันเองในกลุ่ม


คนขับเคลื่อนแปรญัตติแก้ไข ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกสนช. ตท.รุ่น 12 ร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ ซึ่งก็จัดว่าผิดสังเกต เพราะโดยปกติ พล.อ.สิงห์ศึก เป็นประธานกมธ.การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน มักมีบทบาทภายในรัฐสภา ไปในโทนเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเมือง

ภาพสะท้อนหนึ่งในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. จึงออกมาในลักษณะของความไม่มั่นใจใน 50 เก้าอี้ จากการเลือกแบบแบ่งกลุ่มตามวิชาชีพ ว่า จะจัดแถวให้ตรงได้ทั้งหมด เพราะมีอำนาจหน้าที่ต้องมาเลือกนายกฯคนเดิม ตามที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ดีไซน์ไว้

ผลที่ออกมานอกจากความซับซ้อนดังคำอธิบายก็ยังปรากฎ "องค์กรทหาร" และ "องค์กรข้าราชการทั้งพลเรือนและตำรวจ" ที่ต่างมาลงทะเบียนกับกกต.เพื่อใช้สิทธิ์ส่งส.ว.สาขาวิชาชีพ ทั้ง 10 กลุ่ม อย่างล้มหลาม มากกว่าองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมอื่นๆ

เช่น สมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย สมาคมตำรวจ สมาคมข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย มูลนิธิกรมพระธรรมนูญ สมาคมข้าราชการบำนาญ ตลอดจนสภาท้องถิ่น และสภาวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในส่วนกลาง 


ประยุทธ์ สภา นิติบัญญัติ 000_Hkg10090282.jpg
  • ตอกย้ำรัฐราชการเป็นใหญ่ใช้มหาดไทยควบคุม

ส่วนกลไกในการกำกับดูแลการเลือกส.ว.ที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมนั้น โครงสร้างตามระเบียบการเลือกส.ว. ถูกออกแบบให้ข้าราชการฝ่ายปกครองเป็นตัวหลักในการรับผิดชอบ ในระดับอำเภอและจังหวัด ส่วนระดับประเทศคือกกต.กลาง ดังนี้

ระดับอำเภอ/เขต- มีคณะกรรมการ 7 คนคือ นายอำเภอ 878 อำเภอ/ผอ.เขต 50 เขตของกรุงเทพฯ เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการ 3 คน เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่กกต.จว. 1 คน เป็นกรรมการและเลขานุการและผูู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ

ระดับจังหวัด-มีคณะกรรมการ 7 คนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด 3 คน เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เป็นกรรมการ และผอ.กกต.จว. เป็นกรรมการและเลขานุการ

ระดับประเทศ-มีคณะกรรมการ 6 คนคือ ประธานกกต. เป็นประธานกรรมการ กกต. เป็นกรรมการ และเลขาธิการกกต. เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ยังมี "ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานระดับอำเภอ" 15 คน ระดับจังหวัด 3-7 คน และระดับประเทศ 20 คน มีหน้าที่ ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกในแต่ละระดับ "คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก" ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีจำนวนแห่งละ 20 คนต่อสถานที่เลือก ส่วนระดับประเทศ จะมีจำนวน 100 คน มีหน้าที่ ดำเนินการลงคะแนนและนับคะแนน

"เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย" ระดับอำเภอและระดับจังหวัด มีจำนวนแห่งละ 4 คนต่อสถานที่เลือก ส่วนระดับประเทศจะมีจำนวน 20 คน มีหน้าที่ รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณสถานที่เลือก และ "เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย" ระดับอำเภอ 5 คน ระดับจังหวัด 10 คน และระดับประเทศ 20 คน มีหน้าที่ รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสถานที่เลือก

ที่ขาดไม่ได้คือ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" อีก 413 คน ที่ประธานกกต.จับสลาก ให้กระจายตัวทำหน้าที่สอดส่องให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วทั้งประเทศ

รวมแล้วทรัพยากรบุคคลที่ต้องใช้ในพิธีกรรมการเลือกส.ว. 50 คน 3 ระดับ ภายในระยะเวลาราว1 เดือนครึ่ง ทั่วประเทศคือ 51,065 คน แบ่งเป็นระดับอำเภอ 47,328 คน ระดับจังหวัด 3,696 คน และระดับประเทศ 168 คน ประกอบกับผู้ตรวจการเลือกตั้งอีก 413 คน เฉลี่ยส.ว. 1 คน ใช้ทรัพยากรบุคคล 1,032 คน  


กกต อิทธิพร บุญประคอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • "ผู้ว่าฯ-นายอำเภอ-ผอ.เขต" รับทรัพย์ - เผาภาษีให้คสช.สืบทอดอำนาจ  

เมื่อต้องใช้บุคลากรหลักครึ่งแสนคน ในพิธีกรรมการเลือกส.ว. 50 คน ที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วม แต่กลับมีอำนาจเฉกเช่นเดียวกับส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จำเป็นต้องคำณวนรายจ่ายเพื่อประเมินความคุ้มค่า ตามงบฯ ที่ กกต.ตั้งเบิกไว้ 1.5 เดือน ของกระบวนการเลือกทั้งหมด ทีละระดับดังนี้

ระดับอำเภอ 878 อำเภอ /เขต 50 เขต- มีคณะกรรมการ 7 คนคือ

นายอำเภอ/ผอ.เขตของกรุงเทพฯ เป็นประธานกรรมการ คนละ 18,000 บาท รวม 16,704,000 บาท

หัวหน้าส่วนราชการ 3 คน เป็นกรรมการ คนละ 15,000 บาท รวม 41,760,000 ล้านบาท

ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เป็นกรรมการ คนละ 15,000 บาท รวม 27,840,000 บาท 

เจ้าหน้าที่กกต.จว. 1 คน เป็นกรรมการและเลขานุการและผูู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ คนละ 33,000 บาท รวม 30,624,000 บาท

ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานระดับอำเภอ/เขต 15 คน คนละ 9,000 บาท รวม 125,280,000 บาท

คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกระดับอำเภอ/เขต 20 คน คนละ 850 บาท รวม 15,776,000 บาท

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับอำเภอ/เขต 4 คน คนละ 850 บาท รวม 3,155,200 บาท

เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยระดับอำเภอ/เขต 5 คน คนละ 850 บาท รวม 3,944,000 บาท    

รวมระดับอำเภอใช้งบประมาณทั้งสิ้น 265,083,200 บาท

ระดับจังหวัด - มีคณะกรรมการ 7 คนคือ

ผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ คนละ 22,500 บาท รวม 1,732,500 บาท

หัวหน้าส่วนราชการ 3 คน เป็นกรรมการ คนละ 18,000 บาท รวม 4,158,000 ล้านบาท

ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน เป็นกรรมการ คนละ 18,000 บาท รวม 2,772,000 บาท 

ผอ.กกต.จว. 1 คน เป็นกรรมการและเลขานุการ คนละ 18,000 บาท รวม 1,386,000 บาท

ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานระดับจังหวัดๆละ 7 คน คนละ 9,000 บาท รวม 4,851,000 บาท

คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกระดับจังหวัดๆละ 20 คน คนละ 850 บาท รวม 1,309,000 บาท 

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับจังหวัดๆละ 4 คน คนละ 850 บาท รวม 261,800 บาท

เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยระดับจังหวัดๆละ 10 คน คนละ 850 บาท รวม 654,500 บาท    

รวมระดับจังหวัดใช้งบประมาณทั้งสิ้น 17,106,800 บาท 

ระดับประเทศ - มีคณะกรรมการ 6 คนไม่ได้กำหนดเบี้ยเลี้ยงการทำงานในบัญชีแนบท้ายระเบียบการเลือกส.ว. จึงคำนวนได้เฉพาะส่วนของ ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานระดับประเทศ 20 คน คนละ 9,000 บาท รวม 180,000 บาท 

คณะกรรมการประจำสถานที่เลือกระดับประเทศ 100 คน คนละ 850 บาท รวม 85,000 บาท

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับประเทศ 20 คน คนละ 850 บาท รวม 17,000 บาท

เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยระดับประเทศ 20 คน คนละ 850 บาท รวม 17,000 บาท

และผู้ตรวจการเลือกตั้ง 413 คน ที่กระจายไปทั่วประเทศ ใช้เกณฑ์ตั้งเบิกเดียวกันกับตำแหน่งอื่นๆที่ 1.5 เดือน ก็จะตกคนละ 75,000 บาท ไม่รวมเบี้ยเลี้ง ค่าพาหนะ ค่าแต่งตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงาน รวม 30,975,000 บาท    

รวมระดับประเทศใช้งบประมาณทั้งสิ้น 31,274,000 บาท 

รวมประมาณการค่าใช้จ่ายการให้บุคคลากรทั้ง 51,065 คน ต่อการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยไม่รวมค่าพื้นที่เสี่ยงภัย รายจ่ายวัสดุอุปกรณ์ บัตรเลือกตั้ง และจิปาถะ ในระยะเวลา 1.5 เดือนตามที่ กกต.ตั้งเบิกจ่าย อย่างน้อยคือ 313,464,000 บาท ค่าเฉลี่ยต่อหัวจะอยู่ที่ อย่างน้อย 6,269,280 บาท ต่อ ส.ว. 1 คน

หากคิดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกส.ว. 50 คน อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ส.ว. 1 คนก็จะตกคนละ 26 ล้านบาท ซึ่งประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด แล้วพวกเขาเหล่านั้น ก็จะเข้าไปมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี แข่งกับ 500 ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งยังเป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องชี้แจงว่า อีก 1 พันล้าน ที่นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายบุคคลากรแล้ว ถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่ต้องจัดพิมพ์ทั้งสิ้น 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาอันจำกัด