ไม่พบผลการค้นหา
บุตรชาย เผย 'พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค' มีความเครียดเรื่องระบบขนส่งมวลชน รับปากร่วมผลักดันตามคำสั่งเสีย ขณะที่ปลัดสธ. แนะประชาชนให้เฝ้าสังเกตคนใกล้ชิด หากพบผิดปกติให้พามาพบแพทย์จิตเวชทันที

จากเหตุการณ์ พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กระโดดลงมาจากชั้น 7 ภายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ลงไปกระแทกพื้นจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้พบจดหมายลาตาย ที่ระบุไว้ใจความว่าขอให้ทุกคนที่ทราบเรื่องช่วยกันคัดค้านโครงการทางรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟฟ้ายกระดับ และช่วยผลักดันให้สร้างถนน AUTOBAHN

ล่าสุดพ.ต.ท.เหมจักร บุนนาค บุตรชายของพล.ต.อ.สล้าง ได้เปิดเผยว่าบิดามีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีความเครียดเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่คาดคิดว่าบิดาจะตัดสินใจเช่นนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะร่วมผลักดันตามคำสั่งเสียของบิดา และจะนำข้อมูลที่บิดารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน มาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนภายใน 1-2 วัน ในส่วนของผลชันสูตรศพขอไม่เปิดเผยรายละเอียด ส่วนกำหนดการบำเพ็ญกุศลครอบครัวจะนำศพ พล.ต.อ.สล้าง ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดเทพศิรินทร์ เริ่มพิธีรดน้ำศพตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น. 

ทางด้านว่าที่ พ.ต.ต.ปองขวัญ ยิ้มสอาด นายแพทย์ สบ.2 กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ในปีที่ผ่านมามีตำรวจมาปรึกษาขอคำแนะนำหลังพบว่าเริ่มมีปัญหาการป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 170 คน ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยเช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการงานการเงิน โดยมีอาการ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคนี้มี 3 ระดับ คือระดับขั้นต้นอาจมีอาการไม่มากเช่นจะมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระดับส่วนระดับรุนแรงอาจมีอาการเบื่อชีวิตจนอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งแนวทางการรักษาแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ซึ่งจะมีกระบวนการักษาทั้งการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

ขณะที่สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 มีข้าราชการตำรวจ ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับบริการกลุ่มโรคซึมเศร้า จำนวนกว่า 1,980 คน โดยในปี 2558 มี 479 คน ในปี 2559 มี 640 คน และในปี 2560 มีจำนวน 861 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมตำรวจที่มาปรึกษากับจิตแพทย์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากยังมีความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในด้านลบ และหวั่นกระทบหน้าที่การงานอีกด้วย

ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นถึงกรณีการฆ่าตัวตัวทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ขอให้ประชาชนช่วยกันป้องกัน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสังเกตความผิดปกติของผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หากพบว่ามีการพูดในทำนองสั่งเสีย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย เป็นเพื่อน อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพื่อให้ได้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา แต่หากไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ทันที

ในส่วนโรคซึมเศร้า คาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ได้มอบให้กรมสุขภาพจิต จัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยล่าสุดมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40

ทั้งนี้ ในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลง ได้ใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ซึ่งจะช่วยลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300 – 400 คนต่อปี

อ่านเพิ่มเติม