ไม่พบผลการค้นหา
ไม่มีใครปฏิเสธว่า คนในกองทัพไม่ควรมีวินัย แต่จะดีกว่านี้ไหม หากการสร้างวินัยนั้นๆ ไม่ทำให้ใครต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อ่านบทวิเคราะห์ในคอลัมน์ 'Make It Clear'

นาทีนี้ คงไม่มีข่าวไหนที่จะสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับสังคมมากไปกว่า ข่าวการเสียชีวิตปริศนาของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร ชั้นปีที่ 1 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดจากการ “ซ่อม” หรือลงโทษระหว่างการฝึก ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ

แต่แทนที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลจะออกมาแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น กลับยิ่งเติมเชื้อไฟเข้าไปในกองเพลิง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกว่า “ผมก็เคยโดนซ่อม แต่แค่สลบ ยังไม่ตาย” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บอกว่า “ผมก็เคยโดนซ่อม..ผมขาประจำอยู่แล้ว โดนหนักอยู่แล้ว” ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ก็บอกว่า “คดีนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น”

บิ๊กป้อมยังย้ำอีกว่า ถ้าไม่อยากถูกซ่อม ก็ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาเฉพาะคนที่เต็มใจ (จนหลายฝ่ายท้วงว่า แล้วทหารเกณฑ์ที่เขาไม่ได้เต็มใจล่ะ)

ท่าทีไม่อินังขังขอบ ไม่เคยยอมรับว่าวัฒนธรรมการซ่อม หรือที่เปลี่ยนชื่อให้ฟังเพราะขึ้นเป็น “ธำรงวินัย” ว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหา รวมถึงการันตีด้วยว่านี่คือ “เรื่องปกติธรรมดา” ของบรรดานายพลเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ และหลายๆ ครั้งที่มีการตายในค่ายทหาร สูงสุดที่คาดหวังได้คือการบอกว่า “ได้กำชับว่าอย่าให้เกิดความสูญเสียขึ้น”

แต่ความสูญเสียก็ยังเกิดขึ้นมาโดยตลอด

และที่บอกว่า ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัว พอเกิดเรื่องน้องเมย หลายๆ คนก็มาแชร์ประสบการณ์ว่า เคยเห็นทหารลงโทษกันเองด้วยการต่อย ถีบ ตบ กลางที่รโหฐาน โดยไม่คิดจะปิดบังด้วยซ้ำ

ถ้าไปดูในไดอารีของน้องเมย ตั้งแต่เข้าโรงเรียนเตรียมทหารมาในเดือน เม.ย.ของปีนี้ เขาเองก็เคยถูกต่อยท้องจนจุก “แถมกลางคืนมีลงนรกอีก”

แต่การซ่อมอย่างจริงจังที่โดนจนสลบ คือทำท่าแคงคารู โน้มเอาหัวปักพื้นแล้วยกขาสลับ จากความผิดคือ ไปเดินในเส้นทางที่รุ่นพี่ห้ามเดิน เมื่อพ่อของน้องเมยไปถามโรงเรียนเตรียมทหารว่า ใครกำหนดให้เส้นทางนั้นนักเรียนใหม่ห้ามเดิน คำตอบก็คือ “โรงเรียนไม่ได้กำหนด รุ่นพี่กำหนดกันเอาเอง”

ผิดเพราะไม่ทำตามสิ่งที่รุ่นพี่กำหนดตามอำเภอใจ ?

วินัยจะเกิดจากการเชื่อฟังรุ่นพี่ ?

เท่าที่ค้นข้อมูลความสูญเสียในค่ายทหาร ในรอบห้าปีหลัง พบว่ามีที่เป็นข่าวอย่างน้อย 10 กรณี

  1. พลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกซ่อมจนบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2556 เหตุเกิดที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส
  2. พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย ถูกลงโทษจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2557 เหตุเกิดที่ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ (แต่ต่อมาโรงพยาบาลแจ้งว่า ตายเพราะไข้หวัดนก)
  3. ร.ต.สนาน ทองดีนอก ถูกสั่งให้ว่ายน้ำจนเกินกำลังที่จะทนได้ สุดท้ายจนน้ำเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 เหตุเกิดที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ กทม.
  4. ส.ท.กิตติกร สุธีพันธุ์ ถูกซ่อมจนบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2559 เหตุเกิดที่ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์
  5. พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ถูกลงโทษจนเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2559 เหตุเกิดที่ค่ายพยัคฆ์ จ.ยะลา
  6. ส.ท.ปัญญา เงินเหรียญ ถูกลงโทษให้วิ่งรอบสนามกลางแดดจนเป็นฮีทสโตรกและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2559 เหตุเกิดที่ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี
  7. พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ถูกสั่งขังและทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2560 เหตุเกิดที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราฎร์ธานี
  8. พลทหารนพดล วรกิจพันธ์ ถูกซ่อมหมู่และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยมีเลือดคั่งในร่างกายจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2560 ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราฎร์ธานี
  9. นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ เสียชีวิตปริศนาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 แต่มีประวัติเคยถูกซ่อมมาโดยตลอด เหตุเกิดที่โรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก
  10. พลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ เสียชีวิตกระทันหัน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร จ.นครศรีธรรมราช ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเกิดจากโรคประจำตัว

ถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นได้ว่า เหตุสูญเสียเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในค่ายทหาร “ทั่วประเทศ” แม้บางกรณียังมีข้อสงสัย หรือบางกรณีเป็นเหตุสุดวิสัย

แต่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการ “ซ่อม” โดยรุ่นพี่ในค่ายทหารแทบทั้งสิ้น

และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับกองทัพ มีอยู่ 3 กรณีที่มีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องไปแล้ว ได้แก่ กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ศาลแพ่งสั่งให้กองทัพบก (ทบ.) ชดใช้ค่ายเสียหายแก่ครอบครัวพลทหารวิเชียร 6.5 ล้านบาท และสั่งพักราชการ “ร้อยเอก” คู่กรณีไปแล้ว กรณีพลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทบ.ได้ปลด “ร้อยตรี” คู่กรณีออกจากราชการและถอดยศไปแล้ว และกรณีพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ที่ ผบ.ทบ.ได้สั่งปลดทหารที่เกี่ยวข้อง 134 นายออกจากราชการ

แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้นตั้งแต่แรก

ทหารหลายๆ คนออกมาชี้แจงว่า การ “ซ่อม” (หรือ “แดก” ซึ่งหมายถึงการซ่อมที่โหดกว่า ใช้เวลานานกว่า) จริงๆ ก็คือการสั่งลงโทษธรรมดา เช่น ให้วิ่ง วิดพื้น ซิทอัพ สก๊อตจั๊ม ฯลฯ แต่ถ้าดูตัวอย่าง 10 กรณีที่ยกขึ้นมา จะเห็นได้ว่า หลายๆ ครั้งการซ่อม ได้พัฒนาไปเป็นการ “ซ้อม”

ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2476 รวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ก็ออกมาตรการป้องกันไว้รัดกุมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งห้ามถูกเนื้อต้องตัว ห้ามทำให้เกิดแผล ห้ามทำให้เหนื่อยเกินไป ฯลฯ

แต่สมควรตั้งคำถามกับการบังคับใช้

หากผู้มีอำนาจรวมถึงนายทหารชั้นผู้ใหญ่ยังไม่ยอมรับว่า วัฒนธรรมการซ่อมในกองทัพยุคปัจจุบัน “มีปัญหา” เพียงเพราะถือว่า ชั้นยังเคยผ่านมาได้เลย ทำไมเด็กๆ รุ่นหลังจะผ่านมาไม่ได้ หรือคิดว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะสร้างวินัยให้แก่คนในกองทัพ

กรณีน้องเมยก็คงจะไม่ใช่ “ศพสุดท้าย” แน่ๆ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า คนในกองทัพไม่ควรมีวินัย แต่จะดีกว่านี้ไหม หากการสร้างวินัยนั้นๆ ไม่ทำให้ใครต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog