ไม่พบผลการค้นหา
มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียทรงประกาศว่าจะกำจัดการก่อการร้ายให้หมดไปจากโลก ระหว่างการประชุมนานาชาติที่กรุงริยาด

สำนักข่าวอัล-อาราเบียรายงานว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงเป็นประธานในการประชุมนานาชาติเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจาก 40 ประเทศมุสลิมทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมด้วย รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

เจ้าชายบิน ซัลมาน ตรัสในระหว่างการประชุมว่า การก่อการร้ายในนามของอิสลามเป็นการบิดเบือน และการกำจัดกลุ่มก่อการร้ายให้หมดไปจากโลกต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพในกลุ่มประเทศพันธมิตรแห่งอิสลาม ทั้งยังมีการพาดพิงถึงกลุ่มติดอาวุธไอเอสหรือดาอิช ซึ่งก่อเหตุอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ประเมินว่าการก่อเหตุโจมตีมัสยิดของชาวมุสลิมนิกายซูฟี บริเวณคาบสมุทรไซนายของอียิปต์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 305 ราย และผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก อาจเป็นฝีมือของกลุ่มไอเอสเช่นกัน โดยเจ้าชายบิน ซัลมาน ทรงระบุว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากประเทศอิหร่าน อิรัก และกาตาร์ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากอิหร่านมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ แต่ซาอุดีอาระเบียนับถือนิกายซุนนีย์ ส่วนกาตาร์ถูกคว่ำบาตรตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะว่ามีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในเร็วๆ นี้ 

000_UM08I.jpg

ในระหว่างการประชุมยังมีการฉายภาพเหตุการณ์ที่ชาวปาเลสไตน์ใช้อาวุธตอบโต้การยึดครองของอิสราเอลเมื่อปี 2001 (พ.ศ.2544) หรือที่เรียกว่าการลุกฮือครั้งที่ 2 (Intifada) และเมื่อสำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ภาพดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อการเชื่อมโยงว่ากลุ่มชาวปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเครือข่ายก่อการร้าย โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจากทั่วโลกที่สนับสนุนการต่อสู้ของปาเลสไตน์มองว่าการตอบโต้อิสราเอลเมื่อปี 2001 เป็นความชอบธรรม และไม่ใช่การก่อการร้าย

นักวิเคราะห์ในประเทศตะวันตกมองว่าเจ้าชายบิน ซัลมาน กำลังพยายามรวบรวมประเทศพันธมิตรเพื่อชิงการเป็นประเทศผู้นำในตะวันออกกลาง ก่อนที่พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียพระองค์ปัจจุบัน และการสั่งปราบปรามผู้ก่อเหตุทุจริตทั่วประเทศเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็เป็นคำสั่งที่พระองค์ทรงบังคับใช้ในฐานะประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตรวมถึงเจ้าชายนับสิบพระองค์ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ รวมถึงอดีตมกุฎราชกุมารพระองค์หนึ่ง ทำให้มีผู้ประเมินว่าเจ้าชายบิน ซัลมาน กำลังพยายามรวมศูนย์อำนาจเพื่อเสถียรภาพของพระราชบัลลังก์ในอนาคต

นอกจากนี้ สำนักข่าวอัลจาซีรา สื่อของกาตาร์ ยังระบุด้วยว่าการนิยามคำว่าก่อการร้ายโดยซาอุดีอาระเบียอาจเป็นสิ่งย้อนแย้งได้ เพราะเจ้าชายบินซัลมาน ทรงเป็นผู้นำกองทัพซาอุดีฯ เข้าร่วมในการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายในประเทศเยเมน พร้อมระบุว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธฮูตี แต่สหประชาชาติระบุว่า กองกำลังผสมระหว่างซาอุดีฯ รัฐบาลเยเมน และประเทศพันธมิตร ใช้กำลังโจมตีจนส่งผลกระทบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างรุนแรง เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน แทบไม่ต่างจากกลุ่มฮูตี และก่อนหน้านี้คณะกรรมการวุฒิสภาของทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลของตนเองระงับการขายอาวุธให้แก่ซาอุดีอาระเบียด้วย เพราะเกรงว่าอาวุธจะถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่นายซาอัด อัล-ฮาริรี นายกรัฐมนตรีเลบานอน ซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกจากกรณีที่เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน หลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย และไม่มีผู้ใดติดต่อได้ระยะหนึ่ง ล่าสุดเขาได้ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา หลังเดินทางกลับประเทศเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเขาระบุเพียงว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย ขอให้คงอยู่ในซาอุดีอาระเบียต่อไป" ซึ่งหมายความว่าเขาจะไม่เปิดเผยอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก 

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่านายฮาริรีอาจถูกซาอุดีอาระเบียกักตัวเอาไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามตัวแทนแย่งชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน เนื่องจากรัฐบาลผสมของเลบานอนมีกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิหร่านรวมอยู่ด้วย ขณะที่นายฮาริรีเป็นนักธุรกิจที่ถือ 2 สัญชาติ ทั้งเลบานอนและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงมีภรรยาและลูกอยู่ในกรุงริยาด จึงอาจถูกทางการซาอุดีอาระเบียกดดันเพื่อเหตุผลบางอย่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ซาอุดีฯ เสนอเจ้าชายมอบทรัพย์ 70% แลกเสรีภาพ

ผู้นำเลบานอนหายตัวหลังเข้าเฝ้ากษัตริย์ซาอุฯ

ซาอุดีฯ พบการคอร์รัปชันกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์