ไม่พบผลการค้นหา
ก.แรงงานชงร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับแก้ไข เพิ่มอัตราค่าทดแทนจาก 60% เป็น 70% พร้อมขยายเวลาจ่ายทดแทนกรณีทุพพลภาพนานเกิน 15 ปี ทดแทนกรณีเสียชีวิตสูญหายไม่เกิน 10 ปี เสนอ สนช. 27 ก.พ.นี้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุถึงการชี้แจงต่อคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง โดยมีประเด็นแก้ไขสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จาก 60% เป็น 70% ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งเป็นการขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรของนายจ้าง ที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ ยังได้แก้ไขการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ กรณีลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ โดยเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี จากปัจจุบันให้ไม่เกิน 15 ปี พร้อมกับเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นไม่เกิน 10 ปี จากปัจจุบันไม่เกิน 8 ปี 

"วันที่ 27 ก.พ.นี้จะนำร่างพ.ร.บ.เงินทดแทนที่ทำการแก้ไขฉบับใหม่เข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) พิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อนำร่างฯ เข้าสู่ ที่ประชุม สนช. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป" นายสุรเดช กล่าว

ขณะที่ เวบไซต์ กรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่ข่าวความคืบหน้ากรณีลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ในย่านบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 150 คน เข้าแจ้งความ ณ สถานีตำรวจภูธรบางปะกง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินคดีกับนายจ้าง เนื่องจากหักเงินสมทบแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม มีฐานความผิดฉ้อโกงจนทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิรักษาจากประกันสังคม

ประเด็นนี้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ได้สั่งการสำนักงานประกันสังคม จ. ฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง เขตพื้นที่รับผิดชอบเข้าตรวจสอบพร้อมลงพื้นที่ประสานงานให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วนจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทฯ ดังกล่าวได้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี 2559 และ 2561 รวม 697,000 บาท ค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมาย จำนวน 12,561,951.28 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13,285,951.28 บาท

ดังนั้น จึงได้รับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนบริษัทฯ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯ ตกลงรับจะชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานทั้งหมด ภายในวันที่ 2 มี.ค. นี้

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวด้วยว่า พฤติกรรมที่นายจ้างกระทำนั้น ถือเป็นการทำผิดกฎหมายประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับนายจ้าง ตามขั้นตอน คือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังตามจำนวนที่ยังไม่นำส่ง และจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา ที่กฎหมายกำหนดด้วย