“ถ้าเราตระหนักว่า ‘กลิ่น’ มีความเป็น ‘อคติ’ ที่ความหมายของมันเกิดจากการเรียนรู้ และวัฒนธรรม ทำให้ต้องตัดสินว่า ‘หอม’ หรือ ‘เหม็น’ แล้ว เราก็จะสามารถ ‘ละทิ้ง’ ความหมายเดิมๆ เพื่อเริ่มต้นการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างปราศจากอคติจาก ‘กลิ่น’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์”
นั่นเป็นข้อความบนนามบัตรของ ‘ก้อย-ชลิดา คุณาลัย’ นักออกแบบกลิ่น ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลิ่นหอมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มานานกว่า 20 ปี และเคยเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์น่าจับตามองของ TEDxBangkok เมื่อ 3 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เธอออกตัวกับทีมวอยซ์ออนไลน์ว่า การก้าวเข้ามาทำงานกับกลิ่นเป็นเพียงความบังเอิญ
“จริงๆ แล้วเรียนรัฐศาสตร์การทูต และนิเทศศาสตร์ ไม่เกี่ยวเลยเนอะ (หัวเราะ) แต่บังเอิญสนใจเรื่องกลิ่น แล้วพี่คนหนึ่งชวนไปทำงานกับบริษัทน้ำหอมต่างชาติ และด้วยความอยากทดลองอะไรใหม่ๆ เลยตัดสินใจทำ หลังจากนั้นก็ออกจากวงการกลิ่นไม่ได้อีกเลย” เธอเล่าไปพร้อมๆ กับหยิบจับขวดน้ำมันหอมสีชาที่วางเรียงรายอยู่ตรงหน้า
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ก้อย หนีจากวงการกลิ่นไม่พ้นคือ มนต์เสน่ห์ที่เป็นมากกว่าความ ‘หอม’ หรือ ‘เหม็น’ โดยเธอค้นพบพลังอันน่าอัศจรรย์ของประสาทสัมผัสที่เชื่อมต่อกับลมหายใจ และส่งตรงสู่สมองรวดเร็วกว่าผัสสะชนิดอื่นๆ
“เมื่อปิดตามองไม่เห็น ปิดหูไม่ได้ยิน ปิดปากไม่ได้รสชาติ แต่มนุษย์อุดจมูกไม่ได้ กลิ่นจึงเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ และมันไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่มีฟังก์ชั่นเรื่องของการดำรงอยู่ของมนุษย์” นักออกแบบกลิ่นอธิบายความสำคัญก่อนเสริมต่ออีกว่า
“ลองคิดเล่นๆ ว่าหากวันหนึ่งตื่นมาตอนเช้า แล้วจมูกคุณไม่รับรู้กลิ่นจะเกิดอะไรขึ้น? บางคนอาจไม่ทันคิด เพราะอยู่เคียงคู่ลมหายใจ แต่หากเกิดควันไฟก็อาจเป็นอันตราย หรืออาหารหน้าตาดีๆ แต่จริงๆ แล้วอาจบูด ซึ่งเราสามารถรับรู้ต่อเมื่อได้กลิ่น หรือกลิ่นบางอย่างมันทำให้ย้อนนึกถึงความทรงจำ”
ที่ผ่านมา ก้อยออกแบบกลิ่นให้สินค้า องค์กร และสถานที่ต่างๆ มาแล้วมากมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่หลายคนใช้ในชีวิตประจำวันก็ผ่านการพิสูจน์ด้วยจมูกของเธอมาแล้ว
ทว่าในประเทศไทย แม้ตลาดเครื่องหอมจะสวยงามหรูหรา เต็มเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเพลิดเพลินจำเริญใจ แต่การใช้จมูกหาเลี้ยงชีพในฐานะ ‘นักออกแบบกลิ่น’ ยังมีเพียงน้อยนิด ดังนั้น เมื่อถามหาความยากในกระบวนการทำงานเธอเปิดเผยว่า
“ไม่มีอะไรยาก ทุกคนมีเครื่องมือติดตัวอยู่แล้วคือ ‘จมูก’ แต่ทุกคนมองข้ามมันไปหมดเลย จริงๆ ทุกอย่างพอทำด้วยความรัก และของเรามันกลายเป็นความบ้าไปแล้วด้วย จึงไม่มีอะไรยาก เพราะถ้ายากก็ต้องลองหาความรู้ และเดี๋ยวมันก็รู้”
ความบ้าสุดๆ ของก้อยก้าวไกลไปถึงการทดลองให้มี ‘กลิ่นคลองแสนแสบ’ โดยเธอเล่าเท้าความว่า อคติเรื่องกลิ่นในมนุษย์บ่อเกิดจากการอบรมสั่งสอน และถ้าทุกคนสามารถลบอคติจะเรียนรู้ความแตกต่าง และโลกกว้างได้มากยิ่งขึ้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความบ้า จนเธอหันมาเริ่มเรียนรู้กลิ่นที่เป็นกลิ่นของคลอง ความเน่า กลิ่นสวนสัตว์ดุสิต เพราะมันช่วยให้เรียนรู้สังคมด้วย
“อย่างการทำงานออกแบบกลิ่นให้ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้าของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งหลักๆ เราดูแลแถบเอเชีย เพราะฉะนั้นความรู้ที่ได้มา เช่น ประเทศอินเดียกับประเทศจีนคนชอบกลิ่นไม่เหมือนกัน ถ้าคนอินเดียจะชอบกลิ่นค่อนข้างแรง นั่นเป็นวัฒนธรรมการกินด้วย เพราะอาหารอินเดียมีเครื่องเทศ เพราะฉะนั้นกลิ่นที่รับทุกวันๆ มันค่อนข้างอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับคนจีนที่วัฒนธรรมอาหารไม่ใส่เครื่องเทศมาก ทำให้กลิ่นอ่อนๆ เบาๆ คือถ้าดูง่ายๆ วัฒนธรรมการกินเป็นตัวกำหนดให้ใครชอบกลิ่นแบบไหน” ก้อยเล่าให้ฟัง
ด้วยความที่ก้อยเป็นคนกรุงเทพฯ การทดลองออกแบบกลิ่นในงาน TEDxBangkok เมื่อปี 2015 จึงหยิบคำถามง่ายๆ มาร่วมไขปริศนาว่า ‘คนกรุงเทพฯ รู้จักกรุงเทพฯ ผ่านกลิ่นแบบไหน?’ และ ‘ความทรงจำเกี่ยวกันกรุงเทพฯ ผ่านกลิ่นของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร?’
การทดลองดังกล่าวใช้ชื่อเรียกว่า ‘Scent Map’ ของกรุงเทพฯ โดยเธอนำแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ เช่น สวนจตุจักร ปากคลองตลาด สวนสัตว์ดุสิต คลองแสนแสบ ฯลฯ มาออกแบบเป็นกลิ่น ก่อนเปิดให้ผู้คนเข้าร่วมดมกลิ่นนั้นๆ และนำหมุดไปปักบนแผนที่กรุงเทพฯ
“ทุกคนได้เรียนรู้ทางสังคม และเรื่องพื้นที่ของกรุงเทพฯ อย่างบางคนพอพูดถึงจตุจักรมันมีอยู่ 2 แนว คือจตุจักรที่ขายเครื่องหอม หรือจตุจักรที่เป็นสวนสาธารณะ แต่คลองแสนแสบทุกคนคิดเหมือนกันหมด ปัญหาคือ คลองแสนแสบมันไม่ได้มีกลิ่นหอม มันเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขหรือเปล่า เพราะทุกคนที่ทดลองคิดถึงที่นี่หมดเลย ปัญหามันเด่นชัดเหมือนกันนะ
“กลิ่นที่ออกแบบมามันอาจจะไม่เหมือนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันช่วยกระตุ้นทำให้นึกถึง ดึงบางส่วนในความทรงจำของพวกเขาออกมา อย่างปากคลองตลาดก็เป็นกลิ่นดอกไม้ หรือถ้าเป็นเยาวราช คนรุ่นเก่าหน่อยก็บอกเป็นกลิ่นยาจีน แต่ปรากฏคนรุ่นใหม่ที่มาทดลองบอกเป็นกลิ่นอาหารซีฟู้ด มันแสดงให้เห็นความเปลี่ยนผ่านของกลิ่นด้วยเหมือนกัน” ก้อยเล่าแนวทางการทำงานของเธอ
นั่นหมายความว่า กลิ่นเป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการทางสังคม และวัฒนธรรม ในการสร้างความหมายให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ และก่อให้เกิดการสร้างประสบการณ์ที่ทุกคนสูดดมเข้าไป อย่างความเน่าเหม็นของของคลองแสนแสบช่วยทำให้เห็นภาพการทิ้งของเสียหมักหมมลงไปในนั้นเป็นเวลานาน
อีกหนึ่งความพิเศษคือ ก้อยทำงานร่วมกับ ‘The Blind Theatre’ ออกแบบกลิ่นให้กับละครที่ไม่ได้ใช้ดวงตา โดยตัดการรับรู้ทางการมองเห็นทิ้งไป เหลือไว้เพียงเสียง สัมผัส และกลิ่นเท่านั้น แถมยังพัฒนากิจกรรมต่อจนกลายเป็น ‘The Nose Thailand’ ที่เปิดโอกาสให้คนตาบอดมาสร้างสรรค์ศิลปะผ่านพลังของกลิ่น
เนื่องจากเธอเล็งเห็นว่า ผู้พิการทางสายตาปราศจากโอกาสสร้างสรรค์ศิลปะ เพราะมันเต็มไปด้วยทฤษฎีสี ดังนั้น ในฐานะนักออกแบบกลิ่น สิ่งที่เธอเลือกลงมือทำก็คือ ทดลองใช้พลังของกลิ่นบวกกับสี ซึ่งต้องทำงานร่วมกับนักศิลปะบำบัด
“วันแรกๆ ต่างคนต่างงงๆ โดยเราเปิดให้คนตาบอด และคนตาดีมาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมที่แท้จริง แต่เวลาทำงานคนตาดีต้องปิดตาด้วย ซึ่งสิ่งที่แตกต่างออกไปมากๆ จากครั้งแรกคือ คนตาบอดค้นพบความสุข น้องคนหนึ่งบอกกับเราเลยว่า ไม่เคยคิดว่าจะมีความสุขกับการทำงานศิลปะได้
“ส่วนน้องตาดีบอกเลยว่า วิธีการสร้างงานของเขามันต่างออกไปจากตอนที่เขาใช้ตาสร้าง เนื่องจากการใช้ตาสร้างมันจะมีอคติ มันจะตัดสินใจไปก่อนแล้วว่า อันนี้จะสวยไหม เราจะทำให้สวยเพื่อมให้คนโน้น คนนี้มาชอบ แต่พอเขาโดยปิดตาปุ๊บ มันไม่ใช่การสร้างศิลปะด้วยตา มันสร้างศิลปะด้วยความรู้สึก”
เมื่อถามถึงเป้าหมายของโครงการก้อยบอกว่า เธอต้องการเห็นอาชีพหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้คนตาบอด และอยากให้คนตาบอดมีความสุขในการสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบของตัวเอง
สุดท้าย นักออกแบบกล่ินอยากให้ทุกคนลองเปิดจมูกของตัวเอง เรียนรู้สังคมแทนการใช้ปาก ตา หรือหูเป็นหลักเท่านั้น แล้วลองมาดูกันว่า คุณค้นพบความสุขเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง?