ไม่พบผลการค้นหา
เหตุใดละครเวทีในบ้านเราจึงไม่ร่ำรวยเหมือนในหลายๆ ประเทศ? เพราะพื้นที่ หรือเพราะคน? คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง วิเคราะห์ในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง

ปัญหาเรื่องพื้นที่เป็นข้อปวดหัวคลาสสิกสำหรับวงการละครเวทีโรงเล็กอยู่เสมอ หากใครติดตามแวดวงนี้สักหน่อยจะพบว่าโรงละครโรงเล็กหลายแห่งมักมีอายุไม่ยืนยาวนัก เปิดได้เพียงไม่กี่ปีก็ต้องปิดตัวไป สาเหตุหลักๆ มาจากการสู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว เงินจากการขายตั๋วไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสำหรับโรงละคร (ส่วนใหญ่มักมีความจุราวๆ 40-60 ที่นั่ง) ในกรุงเทพมหานครจึงมีโรงละครแบบถาวรชนิดนับนิ้วได้ด้วยมือเดียว

ปี 2560 สถานการณ์เรื่องพื้นที่ทางละครเวทีดูจะย่ำแย่ไปอีก เริ่มจากช่วงกลางปีที่โรงละคร Syrup The Space ท้ายซอยทองหล่อ ปิดตัวไปอย่างเงียบๆ ทั้งที่เปิดได้ไม่ถึงครึ่งปี แต่ที่น่าตกใจกว่าคือการปิดของโรงละครพระจันทร์เสี้ยว สถาบันปรีดีพนมยงค์ ซึ่งยืนยันมาถึง 10 ปี และถือเป็นหนึ่งในสถานที่ทำการแสดงหลักของวงการ ทำให้ตอนนี้ในกรุงเทพฯ เหลือโรงละครขนาดเล็กเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ Democrazy Theatre, Thonglor Art Space และ Creative Industries



ละครเวที **ต้องให้เครดิตภาพ**
ละครเวที "Co/exist" / Photo Credit: FULLFAT Theatre

การมีโรงละครจำนวนน้อยทำให้สถานที่แสดงจำกัดและขาดพื้นที่การซักซ้อมอันเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ท้าทายของศิลปินจนหลายครั้งส่งผลเป็นความคิดสร้างสรรค์ อย่างปีนี้ผู้กำกับละครเวทีที่โดดเด่นมากเรื่องการใช้พื้นที่คือ นพพันธ์ บุญใหญ่ ทั้งจากเรื่อง Co/exist ที่แสดงในโกดังร้างซอยเจริญกรุง 30 (ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่สุดฮิป Warehouse 30 เป็นประสบการณ์ชมละครสุดเซอร์แบบไม่มีแอร์ มีฝุ่นคลุ้งเล็กน้อย แต่ก็มีปัญหาในบางรอบที่ฝนตกจนไม่ได้ยินเสียงนักแสดง

 


ละครเวที **ต้องให้เครดิตภาพ**
ละครเวที "Sleepwalkers" / Photo Credit: FULLFAT Theatre

Sleepwalkers ผลงานชิ้นต่อมาของนพพันธ์ยังใช้พื้นที่ได้อย่างชาญฉลาด งานชิ้นนี้จัดแสดงที่ YELO House โรงพิมพ์เก่าที่ถูกแปรสภาพเป็นอาร์ตแกลเลอรี่และร้านอาหาร โดยเป็นงานประเภท physical theatre หรือเน้นการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ซึ่งนพพันธ์กำกับให้นักแสดงเดิน/วิ่งไปทั่วทั้งสามชั้นของ YELO House เรียกได้ว่าใช้พื้นที่จนคุ้ม อย่างไรก็ดี อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการใช้พื้นที่ของนพพันธ์เป็นแบบ ‘ใช้ครั้งเดียว’ อย่างโกดังร้างเจริญกรุงก็ถูกแปรสภาพเป็นอย่างอื่นไปแล้ว หรือ YELO House ก็ถูกนพพันธ์ใช้ทุกซอกทุกมุมจนยากที่ละครเรื่องอื่นๆ จะมาแสดงในสถานที่นี้ได้อีก หรือไม่ก็ต้องคิดไอเดียใหม่สุดบรรเจิดขึ้นมา



ละครเวที **ต้องให้เครดิตภาพ**
ละครเวที "Blissfully Blind" / Photo Credit: Teeraphan Ngowjeenanan

ดูเหมือนอาร์ตแกลเลอรี่จะเป็นอีกสถานที่เลือกทางสำหรับจัดการแสดง เห็นได้จากเรื่อง Blissfully Blind ของดุจดาว วัฒนปกรณ์ ที่แสดง ณ BANGKOK CITYCITY GALLERY ซึ่งแกลเลอรี่แห่งนี้มีข้อดีตรงที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมเปล่าๆ จึงสามารถดัดแปลงหรือจัดงานได้หลายรูปแบบ (ก่อนหน้านี้เคยจัดคอนเสิร์ตด้วย) และเนื้องานของ Blissfully Blind ก็มีลักษณะของความเป็นนิทรรศการศิลปะอยู่ในตัว เพราะโดดเด่นด้วยการมีงานอินสตอลเลชั่นประกอบในการแสดง



ละครเวที
ละครเวที Godspeed You! Blue Strawberry

คณะละคร Splashing Theatre เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ใช้พื้นที่ของอาร์ตแกลเลอรี่ ในเรื่อง Godspeed You! Blue Strawberry พวกเขาไปแสดงที่ RMA Institute แถมยังน่าตื่นเต้นมากขึ้นด้วยการแสดงทั้งในและนอกแกลเลอรี่ ผู้ชมสามารถเดินเข้าออกได้ตามใจชอบ เปรียบเสมือนว่าผู้ชมไม่ได้กำลังอยู่ในโรงละครที่เราต้องนั่งเงียบตั้งใจดู แต่กำลังอยู่ในอาร์ตแกลเลอรี่แห่งหนึ่งที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี 



ละครเวที **ต้องให้เครดิตภาพ**
ละครเวที "ค(ขั้)ว : What I talk When I talk about grinding" / Photo Credit: Splashing Theatre


Splashing Theatre ยังมีผลงานอีกเรื่องที่แสดงที่อาร์ตแกลเลอรี่ นั่นคือ ค(ขั้)ว : What I talk When I talk about grinding ที่จัดแสดงบนดาดฟ้าของ Buffalo Bridge Gallery กลายเป็นการแสดงแสนเก๋ที่มีฉากหลังเป็นท้องฟ้ายามค่ำคืนและแสงไฟจากตึกระฟ้า

จากตัวอย่างที่ยกมาบางส่วน เราอาจได้ข้อสรุปสองประการคือ หนึ่ง-แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องโรงละครที่น้อย แต่ศิลปินหลายคนยังสามารถแสวงหาพื้นที่การแสดงได้อย่างน่าสนใจ และสอง-นิยามของคำว่า ‘โรงละคร’ มีความหลากหลายและลื่นไหลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมและเก้าอี้วางเรียงเป็นแถวอีกต่อไป


“ประเทศนี้มีคนสนใจละครเวทีสักกี่คนเหรอ”

ที่ว่าไปเป็นเรื่องของฝั่งศิลปิน แต่ฝั่งนักวิจารณ์ละครเวทีก็ประสบปัญหาเรื่องพื้นที่เช่นกัน ปัญหาที่เรื้อรังมาเกินสิบปีคือการไม่มีพื้นที่ตีพิมพ์ผลงาน ในสมัยก่อนที่ยังเป็นยุคนิตยสาร แทบทุกฉบับจะมีคอลัมน์สำหรับการวิจารณ์ภาพยนตร์และดนตรี แต่เล่มที่มีคอลัมน์วิจารณ์ละครเวทีนั้นอาจไม่ถึงห้าฉบับด้วยซ้ำ โดยทางกองบรรณาธิการมักให้เหตุผลว่ามีคนสนใจน้อย (ซึ่งก็จริงเพราะกลุ่มคนดูละครเวทีในบ้านเรามีวงแคบมาก) หรือเป็นเรื่องของความล่าช้าเพราะกว่าหนังสือจะวางแผง ละครก็หมดรอบการแสดงไปแล้ว แถมไปหามาดูหรือฟังย้อนหลังแบบหนัง/เพลงไม่ได้ด้วย

พอเข้าสู่ยุคออนไลน์ ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง เว็บไซต์หรือเพจต่างๆ มักมีพื้นที่ว่าด้วยละครเวทีไม่ว่าจะเป็นบทวิจารณ์หรือการนำเสนอข่าวสาร ข้อดีของออนไลน์คือความฉับไวต่อเหตุการณ์ บทวิจารณ์สามารถเผยแพร่ได้ในช่วงที่ละครเวทียังทำการแสดงอยู่ แต่นั่นหมายถึงว่านักวิจารณ์ต้องทำงานเร็วขึ้นและหนักขึ้น เช่นว่า ต้องรีบไปดูละครตั้งแต่รอบแรก พอกลับถึงบ้านก็เขียนงานส่งเลย

ทว่าแม้จะเป็นยุคออนไลน์แล้ว ความยากลำบากไม่ได้ลดน้อยถอยลง เพื่อนนักวิจารณ์ของผู้เขียนหลายคนถูกลดปริมาณบทความ เช่น จากเดือนละ 4 ชิ้นเป็น 2 ชิ้น ตามนโยบายลดค่าใช้จ่ายของนิตยสารหรือเว็บไซต์นั้นๆ หรือถ้าเอาจากประสบการณ์ของผู้เขียน เพียงแค่ในปี 2017 ผู้เขียนต้องร่อนเร่หาเว็บไซต์หรือเพจเพื่อเขียนถึงละครเวทีมากกว่า 5-6 แห่ง ซึ่งหลายที่ก็บอกปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ทั้งเฉพาะกลุ่มเกินไป, ไม่เหมาะกับผู้อ่านของเรา หรือกระทั่งถูกย้อนถามว่า “ประเทศนี้มีคนสนใจละครเวทีสักกี่คนเหรอ” ซึ่งผู้เขียนเองไม่ได้รู้สึกขุ่นเคืองใจใดๆ กับปฏิกิริยาเหล่านี้ เพราะสิ่งที่เขาพูดมามันจริงทั้งนั้น

การสร้างพื้นที่การเขียนเองเป็นสิ่งที่ทำได้ในยุคนี้ไม่ว่าจะเวบไซต์ บล็อก หรือเพจใดๆ แต่สำหรับการเขียนถึงละครเวทีคงต้องทำด้วยใจรักล้วนๆ เพราะคนสนใจอาจจะไม่มากนัก ยอดไลค์เพจอย่างมากคงแค่หลักพัน ซึ่งนั่นทำให้ไม่สามารถสร้างผลทางธุรกิจใดๆ ต่อได้ ไม่ว่าจะการเข้ามาของสปอนเซอร์หรือการจ้างลงโฆษณา อย่างมากที่สุดอาจได้ดูละครเวทีด้วยโควต้าสื่อมวลชน แต่หลายครั้งอดแอบรู้สึกผิดไม่ได้เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าฝั่งศิลปินก็ลำบากไม่แพ้กัน

เมื่อมองดูอนาคตในปี 2018 ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์ของวงการละครเวทีคงไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไร แต่ทั้งศิลปิน นักวิจารณ์ และผู้ชมก็ต้องดิ้นรนต่อไปในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ 


ขอบคุณภาพปกจาก Teeraphan Ngowjeenanan