วันที่ (2 พ.ค.) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดแถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ-ตับ-ไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว ครั้งแรกในเอเชีย" โดย ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทางคณะแพทยฯ มีการปลูกถ่ายอวัยวะตั้งแต่ พ.ศ. 2516 รวม 1,668 ราย ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในไทย ต่อมาเริ่มทำการปลูกถ่ายอวัยวะ 2 อวัยวะในผู้ป่วยรายเดียว ในปี พ.ศ 2548 มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้ว 25 ราย ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน
ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ส่วนการปลูกถ่ายอวัยวะ 3 อวัยวะในผู้ป่วยรายนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นครั้งแรกในเอเชียด้วย ซึ่ง รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒอักษร เปิดเผยว่า ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ ตับ และไต จากผู้บริจาครายเดียวเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2560 ซึ่งการผ่าตัดดังกล่าวอาศัยความร่วมมือของทีมผู้รักษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในขณะผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงต้องมีการวางแผนขั้นตอนการผ่าตัดล่วงหน้าอย่างรอบคอบ และการประสานงานระหว่างทีมที่ดี รวมเวลาในการผ่าตัดทั้งหมด 12 ชั่วโมง กับ 5 นาที โดยเริ่มจากการปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไตเป็นอวัยวะสุดท้าย
หลังผ่าตัดอวัยวะที่ปลูกถ่ายเริ่มทำงานได้ในระดับที่ดี ไม่พบการต่อต้านของหัวใจใหม่จากการตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ตับ พบว่าตับมีเลือดมาเลี้ยงได้ดี ตับเริ่มมีการทำงานและขจัดของเสียของร่างกายได้ดี จากผลเลือดที่ตรวจเป็นระยะ ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกพบว่าไตใหม่ที่ปลูกถ่ายยังทำงานได้ไม่ดีนัก แต่ในที่สุดก็เริ่มทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ปัสสาวะออกได้เป็นปกติ และผลการตรวจเลือด ค่าการทำงานของไตเป็นปกติ ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2560 จนถึงวันที่ 23 ก.พ. 2561 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 83 วัน พบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านโดยปลอดภัย และอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายทั้งหมด มีการทำงานเป็นปกติดี
นายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ด้านนายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะ ในครั้งนี้เปิดเผยความรู้สึกหลังเข้ารับการรักษาว่า ตอนนี้ไม่รู้สึกเหนื่อยเหมือนแต่ก่อน ท้องจากที่เคยบวมยุบลง กินอาหารได้เยอะขึ้น สามารถทำงานดูแลคนในบ้านได้ พร้อมขอบคุณทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ทำให้เหมือนได้ชีวิตใหม่
ทั้งนี้ การผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะ (หัวใจ-ตับ-ไต) ให้แก่ผู้ป่วยรายเดียว มีรายงานการผ่าตัดจากทั่วโลกน้อยมาก พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 มีรายงานจำนวนการผ่าตัดเพียง 14 รายเท่านั้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และสำหรับในทวีปเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ-ตับ-ไต มาก่อน ดังนั้นการผ่าตัดครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโรงพยาบาลศิริราช ในการก้าวสู่ความเป็นเลิศ เทียบเท่าระดับนานาชาติ ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดผู้บริจาคอวัยวะที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อชีวิตผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีอีกจำนวนมากในไทย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ที่ต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนวิธีการรักษา รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย
ทีมศัลยแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการปลูกถ่าย 3 อวัยวะ
ทีมแพทย์ที่มีส่วนช่วยทำให้การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในครั้งนี้ มี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.นพ. วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช, รศ.ดร.นพ. ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับและหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ, รศ.นพ. ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจ, รศ.นพ. ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต และ อ.พญ. ศรีสกุล จิรกาญจนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและปลูกถ่ายหัวใจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่าในปี 2560 มีผู้บริจาคอวัยวะจำนวน 294 คน เพิ่มขึ้น 74 คนเมื่อเทียบกับสถิติรวมเมื่อปี 2559 แต่ผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำนวนกว่า 5,851 ราย เพิ่มขึ้น 270 รายจากปี 2559 และมีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งสิ้น 670 ราย คิดเป็นค่าเฉลี่ยคือมีผู้บริจาคอวัยวะประมาณ 4.0 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดแคลนอวัยวะบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: