วันที่ 25 ก.ค. 2565 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ประตู 1 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายsaveนาบอน จาก จ.นครศรีธรรมราช ปักหลักเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานกระทรวงพลังงาน ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการก่อนหน้านี้
ด้าน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ภาคีsaveนาบอน ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ในวันนี้ได้มาทวงถามข้อเรียกร้องให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่เคยยื่นต่อกระทรวงพลังงานไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เนื่องจากมีการสร้างโรงไฟฟ้านาบอน แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้มีการจัดการตามที่เรียกร้อง
ประสิทธิ์ชัย เผยอีกว่า รัฐให้เหตุผลที่ไม่ได้ทำ SEA ว่า เนื่องจากเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจึงต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แทน แต่นั่นคือการตีความผิด เพราะสิ่งที่ภาคีของตนเรียกร้องคือการประเมินพื้นที่สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การประเมินโปรเจ็กต์โครงการ อีกทั้งรัฐยังให้เหตุผลว่า การทำ SEA นั้น ต้องเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ และยังมีการไปนำเสนอในอนุกรรมาธิการการจัดการขยะฯ อีกว่า ประชาชนในพื้นที่นาบอนยังไม่มีความเข้าใจใน SEA มากพอ
ประสิทธิ์ชัย กล่าวอีกว่า การเจรจาในวันนี้นั้น ตนได้ยื่นข้อเสนอไปอีกว่า ต้องมีคำสั่งแต่งตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษา SEA ต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกัน และกำหนดเวลาในการประชุมให้ชัดเจน รวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องไม่ออกใบอนุญาตให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านาบอน จนกว่าจะมีการทำ SEA
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานอีกว่า โรงไฟฟ้านาบอน หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล นั้น ดูแล และรับผิดชอบโดย บริษัท ไบโอ พาวเวอร์ แพลนท์จำกัด และบริษัท เออีซี โซล่าร์ จำกัด (ACE) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวน 50,000 เมกกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการแจ้งกับผู้ชุมนุมว่า วันนี้ในเวลา 11.00 น. จะมีการประชุมหารือ และพิจารณาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว และอาจได้ข้อสรุปภายในเวลา 13.00 น. โดย ประสิทธิ์ชัย ยืนยันว่า หากการประชุมหารือของหน่วยงานรัฐในวันนี้ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องที่ถูกควร ตน และกลุ่มภาคีsaveนาบอน ก็จะยังคงปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลต่อไป และเตรียมความพร้อมหากมีการส่งสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่กลุ่มของตนออกจากพื้นที่
ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์พบว่า กลุ่มมวลชนที่มาร่วมปักหลักนั้นได้มีการตั้งเต็นท์โดยใช้ผืนผ้าใบทำเป็นหลังคา บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ และได้มีการใช้ห้องน้ำบริเวณปั๊มใกล้เคียงเป็นสถานที่ทำธุระส่วนตัว ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการกั้นรั้วเหล็ก และตรึงกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อรักษาความปลอดภัยจำนวนหนึ่ง
ล่าสุดเวลาประมาณ 12.45 น. ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกมาแจ้งผลการประชุมหารือของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง โดยได้ผลสรุปคือ หน่วยงานรัฐจะมีการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี 2564
โดยที่ทางสำนักนายกฯ จะมีการมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ยกร่างคำสั่งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าว ภายใน 15 วัน และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการแล้วนั้น จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อออกแบบการศึกษา และจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่นาบอน จ.นครศรีธรรมราช และจะมีกลไกให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ ต่อไป
ด้าน ประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ภาคีsaveนาบอน ได้กล่าวกับตัวแทนจากสำนักนายกฯ ว่า ภายใน 15 วัน หากยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ทางกลุ่มภาคีเครือข่ายจะกลับมาทวงสัญญาที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ก่อนที่ทางกลุ่มมวลชนที่มาปักหลักจะทยอยเดินทางกลับ