ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' แนะรัฐบาลอยู่นิ่งๆ คิดทบทวนอีกรอบเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ทำอะไรได้ทันทีควรทำ รอ พ.ค. ช้าไป เตือนอย่าเอาหลังพิงความเห็น ป.ป.ช. เหตุไม่ใช่หน้าที่องค์กรอิสระ

วันที่ 17 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งความเห็นถึงรัฐบาลกรณีออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

โดย ศิริกัญญา ระบุว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ รับฟังไว้แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องการดำเนินนโยบายเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ได้เป็นข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น ขอให้องค์กรอิสระ ทำงานในกรอบหน้าที่ของตนเอง

ทั้งนี้ ศิริกัญญา ยังระบุว่า หลายเรื่องที่มองแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้วยซ้ำ แต่หากเป็นข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่ควรมาเป็นจุดอ้างอิงอ้างอิง ว่าที่เราไม่ได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะ ป.ป.ช. ให้ความเห็นแบบนี้ ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากโครงการนี้ไปต่อไม่ได้ ก็ให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ไม่ต้องเอาหลังพิงองค์กรอิสระ 

“ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวานนี้ ทั้งที่ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็คือความเห็นของ ป.ป.ช. ถ้าเราสามารถพิจารณากันได้เองโดยไม่ใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เป็นจุดเด่นควรจะรับฟัง แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนจุดตายของโครงการนี้ว่าจะไปต่อได้หรือไม่” ศิริกัญญา กล่าว

ส่วนที่ ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ถึงจุดวิกฤต แต่มีความเสี่ยงจากหลายด้าน โดยอ้างอิงจากนิยามธนาคารโลก 7 ประเภท อันที่จริงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เข้าขั้นแม้แต่ข้อเดียว เหมือนเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตนเคยพูดมาแล้ว แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านพูดน้ำหนักก็อาจจะฟังดูน้อย และแฝงไปด้วยนัยทางการเมือง

เมื่อถามว่ามีความเห็นอย่างไร หากไม่ออกเป็น พ.ร.บ. เงินกู้แล้ว แต่ใช้งบกลางจาก ปี 2568 จะมีปัญหาอีกหรือไม่นั้น ศิริกัญญา มองว่า แนวทางดังกล่าว ก็เป็นทางที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่งบ 2568 ก็จะเข้ากรณีเดียวกับงบ 2567 คือไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการ 500,000 ล้านบาท ต้องตัดเข้าไปในส่วนงบลงทุนด้วยซ้ำไป ถ้ายังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ และลดขนาดโครงการให้เล็กลง พอยัดเข้าไปในงบ 2568 ได้ก็เป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดที่สามารถทำได้ แต่เข้าใจว่าเมื่อวานนี้มีการพูดคุยกันในเรื่องกรอบงบประมาณ ปี 2568 ทางสำนักงบประมาณก็คงจะได้พูดคุยกับทางรัฐบาลเรียบร้อยแล้วว่าโครงการนี้จะบรรจุเข้าไปในงบปี 2568 ได้หรือไม่

เมื่อถามว่าทางลงที่ดีที่สุดของรัฐบาลคือการยุติโครงการเติมเงิน ใช่หรือไม่ ศิริกัญญา กล่าวว่า คงมีโอกาสที่จะทำได้ โดยการลดขนาดโครงการให้เล็กลง และพยายามใช้วิธีการแนวทางที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรือจะไปแก้ไข พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ว่าในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงิน ประเทศอาจไม่จำเป็นต้องวิกฤติก็ได้ ซึ่งรัฐบาลก็คุมเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว ก็อาจจะทำได้ในรัฐบาลนี้ 

ศิริกัญญา กล่าวว่า แต่หากรัฐบาลยังดื้อดึงใช้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่นั้น คิดว่ามีปัญหาแน่ๆ ขณะนี้ติดล็อกทางกฎหมายไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร 

"สุดท้ายแล้ว คนที่จะลุยไฟไปด้วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ทางสภาฯ ก็ต้องโหวตให้กฎหมายที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ข้าราชการที่มีส่วนร่วมในการลงมติ และคณะกรรมการฯ ต้องลงมาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย อยากให้รัฐบาลคิดทบทวนว่าจะหาทางลงให้โครงการนี้อย่าไรดี"

ส่วนที่มีความกังวลว่าจะซ้ำรอยกับโครงการจำนำข้าวนั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่สามารถเทียบเคียงกับโครงการจำนำข้าวได้เลย ถ้าจะเทียบเคียงคงต้องเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้าน ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ได้มีใครได้รับผลกระทบทางกฎหมาย ยกเว้นคนที่เสียบบัตรแทนกันคนเดียว

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะแนะนำอะไรกับรัฐบาล ศิริกัญญา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ คิดทบทวนอีกสักครั้งหนึ่งอย่างถี่ถ้วน ว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง ตอนที่หาเสียงยังมีอำนาจรัฐ ยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการ อาจจะคิดไม่ออกว่าจะต้องทำด้วยวิธีการใด และคิดว่าจะต้องกระตุ้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด ระหว่างนี้ยังเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจมันไม่ดีมีการเติบโตต่ำ ถึงจะไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ยังมีปัญหาที่จำเป็นจะต้องแก้ในระยะสั้นและแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว ดังนั้นเรื่องอะไรที่ต้องทำทันที ต้องทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ทำสักทีเพราะถ้าเกิดวิกฤติจริงก็รอไม่ได้

“รัฐบาลต้องทำอะไรซักอย่าง เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ต้องรอถึงเดือน พ.ค. เราคิดว่าล่าช้าเกินไปและต้องมาลุ้นอีกว่าจะทำหรือไม่ได้ทำ ควรต้องเริ่มทำสักทีด้วยงบกลางตอนนี้แม้จะมีอยู่น้อยก็ต้องออกโครงการอะไรขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าการจับจ่ายใช้สอยมันคล่องตัวมากขึ้นแล้ว” ศิริกัญญา กล่าว