ไม่พบผลการค้นหา
วิกฤตศรัทธาในแวดวงตำรวจนับวันยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลง สวนทางกับเสียงตำหนิที่รังแต่จะดังเพิ่มขึ้นไม่เว้นวัน ทั้งเรื่องรีดส่วย ‘ตั๋วช้าง’ ซ้อมทรมาน หรือเผือกร้อนในองค์กรตำรวจอย่าง ‘คดีกำนันนก’ ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีนายตำรวจที่ส่วนใหญ่สังกัด ‘กองบัญชาการสอบสวนกลาง’ เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ‘สังหารสารวัตรทางหลวง’ ที่อาจเชื่อมไปถึงเรื่องส่วยรถบรรทุก

จากความยุ่งเหยิงของวงการสีกากี ‘วอยซ์’ ชวน ‘ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ’ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม อดีตนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 60 วิเคราะห์มูลเหตุและถอดสลักปัญหาว่าทำไม ‘เรื่องเทาๆ’ ในองค์กรตำรวจถึงแก้ไม่จบเสียที


เงินไม่พอ งานไม่เดิน

เริ่มที่เรื่อง ‘ส่วย’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร้อน ที่มีคำถามว่าทำไมตำรวจถึงเลือกวิธีการนอกรีต เช่นเก็บส่วยรถบรรทุก ที่ถูกเปิดประเด็นโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล หรือกรณีที่มีเงินจากเครือข่ายพนันออนไลน์หมุนเวียนในบัญชีนายตำรวจอย่าง ‘คดีสารวัตรซัว’

ผู้เชี่ยวชาญอาชญาวิทยา มองเรื่อง ‘ส่วย’ ว่า หลายเคสที่ตำรวจเลือกกระทำผิด มันเกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ไม่มีงบให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ

“ในระดับผู้กำกับหรือระดับนายพลตำรวจ ยังไงก็ต้องมีเงินให้ลูกน้องทำงานเพื่อที่จะไปจับผู้ร้าย การทำแต่ละคดีหมดเงินหลักแสนบาท ไหนจะค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เบิกอะไรไม่ได้ มันก็จะมาจากเงินเหล่านี้แหละ ที่เราเรียกกันว่า ‘งบลับ’ เพราะจำเป็นต้องนำมาใช้ในการหมุนเวียนทำงาน นี่คือปัญหาขององค์กรที่สร้างให้ตำรวจต้องทำงานแบบนี้”

อาจารย์จาก ม.รังสิต ยังหยิบยกอีกแง่มุมคือ ภาพที่สังคมวาดฝันให้ข้าราชการไทยอยู่อย่างพอเพียง 

“มันคือวิธีคิดตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ว่าข้าราชการต้องอยู่แบบอัตคัด อยู่แบบเงินเดือนน้อยๆ พอมีวิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่แค่ตำรวจที่จะคอร์รัปชัน สมมติผมย้ายทางหลวงไปให้กรมทางหลวงดูแล แล้วฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของกรมทางหลวง ทำงานไม่ได้เรื่อง เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ต้องคอร์รัปชันเก็บส่วยอยู่ดี”

“เงินที่เอามาจ่ายลูกน้องก็คือเงินคอร์รัปชันนั่นแหละครับ” จอมเดชย้ำถึงที่มาเงิน แต่การได้มาของเงินที่ผิดนั้นใช่ว่าจะมาจากการรีดไถขู่เข็ญ แต่อาจมาจากผู้ให้ที่ยินดีจ่ายเองก็ได้

“สุดท้ายการคอร์รัปชันมันก็ผิดทั้งหมดอยู่ดี แต่มันเป็นระบบที่จำเป็นต้องมี เพราะรัฐไม่มีอะไรให้ตำรวจไปทำงาน”


ไม่เลือกวิธีการ ซ้อมทรมานก็ไม่สน

การขาดแคลนงบประมาณเป็นอีกปัจจัยที่ตำรวจเลือกใช้วิธีการนอกกฎหมายในการสืบสวนสอบสวน เมื่อต้องไขคดีใหญ่ๆ หรือคดีความมั่นคงที่สังคมให้ความสนใจ แม้ว่าจะมีงบลับจากการคอร์รัปชัน ใช่ว่าเงินเหล่านั้นจะเพียงพอสำหรับทำงานทุกคดี บวกกับวิธีคิดของตำรวจไทย คือต้องทำทุกคดีให้จบโดยไม่เลือกวิธีการ

เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเพื่อรีดข้อมูล แม้ว่าประเทศไทยจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 อย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่จากสถิตรายงานจับกุมตัวของสำนักอัยการสูงสุด ตั้งเเต่ 22 ก.พ.-22 พ.ค.66 พบว่ายังมีเรื่องซ้อมทรมานอย่างน้อย 3 กรณี

“ตำรวจหรือทหารไทยจะมีวิธีคิดที่ถูกฝังหัวมาตลอด คือต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไร มันต้องได้ ถ้าคุณทำไม่ได้ก็มีคนอื่นทำได้ ถ้าคุณเลือกวิธีการ คุณก็ทำไม่ได้ บางทีคุณบอกนายว่าติดขัดตรงนั้นติดขัดตรงนี้ นายเขาก็รำคาญคุณแล้ว ชี้แจงตลอด ปัญหาเยอะ สั่งอะไรก็ทำไม่ได้ เรื่องนี้มันก็ส่งต่อมาที่ปัญหาซ้อมทรมานด้วย

“ถามว่าทำไมต้องซ้อมทรมานผู้ต้องหา เพราะเขาต้องการความสำเร็จไง อาจจะเพราะนายสั่งมา หรือประชาชนจับตามอง มันต้องทำให้ได้ ถามว่าไม่ใส่ใจ จับมาแล้วปล่อย ไม่มีการซ้อมทรมาน ทำได้ไหม ทำได้ แต่กลับกันถ้าสมมติผู้ต้องหาลอยนวลหลุดคดีไป ญาติผู้สูญเสียคุณจะไม่สงสารเขาเหรอ นี่แหละตำรวจจะมีวิธีคิดแบบนี้”


โปลิศไม่จับตำรวจ ?

คำถามที่ตามมาหลังการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้ถือกฎหมาย ซึ่งมีทั้งการเข้าไปพัวพันในเรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย หรือการซ้อมทรมาน เมื่อตำรวจทำผิดเองแล้วตำรวจจะกล้าจับกันเองหรือไม่

“การช่วยในเรื่องคดีผมว่ามีน้อย แต่ในการหลบหนี โดยพื้นฐานตำรวจมีความเชี่ยวชาญในการหลบอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าต้องจับผู้ร้ายแบบไหน” จอมเดชตอบ

เขาขยายว่า “การช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ มันก็เหมือนกันทุกองค์กรนั่นแหละ เราลองนึกภาพตอนเราเป็นนักเรียน เพื่อนทำผิดเราจะไม่นิยมฟ้องครูกันนะ บางทีคนที่ไปฟ้องโดนเพื่อนแบน เพราะไม่รักเพื่อน วัฒนธรรมบ้านเรามันเป็นแบบนี้ไง มันปฏิเสธไม่ได้ว่าอะไรที่เราจะช่วยเพื่อนได้ เราต้องช่วยก่อน”

แต่เมื่อคดีที่ตำรวจกระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว การจะเข้าไปแทรกแซงในเรื่องสำนวนคดี จอมเดชมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการจะล็อบบี้เรื่องคดี ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีการพิจารณาหลายชั้น ตั้งแต่ต้นน้ำคือพนักงานสอบสวน ปลายน้ำคือศาล

“ผมเชื่อว่ายิ่งคดีน่าสนใจมากเท่าไหร่ คนที่พยายามบิดคดีเขายิ่งไม่กล้า มันเสี่ยงที่จะทำ มันไม่คุ้มที่จะช่วย ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทนายความ ถ้าจะวิ่งเรื่องคดีมันต้องวิ่งทั้งสายในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย”


องค์กรเทอะทะ สายงานทับซ้อน

อีกประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา ชวนวิเคราะห์คือ ขนาดองค์กรตำรวจ ที่ควรสังคายนาลดขนาดเพื่อกระชับให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องทับซ้อนกัน และควรแบ่งหน่วยงานเพื่อกระจายอำนาจและบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“กองบัญชาการภาคของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาจริงๆ มันไม่มีความจำเป็น เพราะบางโรงพักมีตำรวจไม่พอ เนื่องจากถูกโอนย้ายไปสังกัดกองบัญชาการภาคและสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายพันคน มันไม่จำเป็นต้องมี แล้วควรแยกตำรวจแห่งชาติและตำรวจท้องถิ่นออกจากกัน”

“ข้อเสนอนี้เคยถูกใช้แล้วในประเทศญี่ปุ่น” เขายกตัวอย่าง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “ให้ตำรวจท้องถิ่นรับงบประมาณจากจังหวัด เช่นรัฐบาลยิงงบเข้าจังหวัด ไม่ต้องผ่านกระทรวง แล้วให้จังหวัดบริหารเองว่าจะให้โรงเรียนเท่าไหร่ ให้ตำรวจเท่าไหร่ ถ้าทำแบบนี้มันจะทำให้แต่ละจังหวัดมีเงินบริหารเป็นกอบเป็นกำ นี่คือการทำแบบญี่ปุ่น ไม่ต้องมาเสียเงินซับซ้อนกับฝ่ายอำนวยการของกระทรวง

“เพราะทุกวันนี้เราจ่ายผ่านกระทรวง พอไปถึงจังหวัดมันเหลือเงินนิดเดียว เพราะถูกนำไปใช้จ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่บัญชี เจ้าหน้าที่ธุรการของแต่ละกระทรวง ที่นั่งอยู่กันเต็มไปหมด ซึ่งคนเหล่านี้สามารถรับผิดชอบงานเพียงคนเดียวได้ ส่วนตำรวจส่วนกลางก็ให้ขึ้นกับสอบสวนกลาง แค่คุณทำแค่นี้เงินเดือนตำรวจก็เพิ่มขึ้นแล้ว”

เมื่อลงลึกไปที่รายละเอียดงบประมาณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2566 วงเงิน 115,081 ล้านบาท มีการจำแนกแบ่งจ่ายไว้ดังนี้

  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 82,584 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 31,240 ล้านบาท

อาทิ แผนงานด้านความมั่นคง, แผนงานเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ, แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ

  • งบประมาณรายจ่ายบูรณการ 1,256 ล้านบาท

อาทิ แผนงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้, แผนงานการป้องกัน ปราบปราม บำบัดผู้ติดยาเสพติด


‘สอบสวนกลาง สยายปีก’

จากจิ๊กซอว์ที่ ‘จอมเดช’ หยิบยกขึ้นมา จะเห็นว่าเขาโฟกัสไปที่ ‘กองบัญชาการสอบสวนกลาง’ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ‘พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช’ ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบในคดีพิเศษ ทำงานคล้ายกับ FBI หรือ สำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation) ของประเทศสหรัฐอเมริกา 

“ภารกิจของสอบสวนกลาง คือคดีที่ตำรวจในพื้นที่ไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการ ก็จะโอนคดีมาให้หน่วยนี้รับผิดชอบแทน”

APEC ความปลอดภัย ตำรวจ  Qsncc

ด้วยอำนาจหน้าที่ของหน่วยที่สังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง ที่มีตั้งแต่ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ตำรวจป่าไม้ ไปจนถึงตำรวจรถไฟ อาจารย์จากรั้ว ม.รังสิต มองว่าข้อดีคือการประสานงานเรื่องคดีนั้นๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

“แต่ผมมองข้อเสียมากกว่าข้อดีนะเรื่องนี้” เขาเปิดประเด็น 

“จริงๆแล้วสอบสวนกลาง ผมเสนอว่าควรจะมีเฉพาะกองปราบ ที่เป็นตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวน เป็นหน่วยพิเศษ แต่ในกรณีตำรวจทางหลวง ก็ควรให้กรมทางหลวงดูแลไป หรือตำรวจรถไฟ ก็ควรให้การรถไฟดูแลไป ไม่จำเป็นที่ตำรวจจะเข้าไปดูแลทุกหน่วย 

“การมีไว้ไม่ใช่ไม่ดี แต่ข้อเสียของมันคือการแต่งตั้งโยกย้ายของบ้านเรา มันไม่ได้ล็อกสเปก เช่นในต่างประเทศถ้าคุณเป็นตำรวจทางหลวง คุณจะเติบโตในสายทางหลวงทั้งชีวิต แต่บ้านเราไม่ใช่ สักพักคุณจะโดนย้ายไปเป็นตำรวจน้ำ เดี๋ยวสักพักก็ย้ายไปเป็นตำรวจรถไฟ หรือย้ายเข้ากองปราบ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนสเปกบ่อยๆ

"มันทำให้เราไม่เชี่ยวชาญสักที เราเลยไม่มีตำรวจที่เชี่ยวชาญเรื่องเฉพาะจริงๆ เพราะเรามีวิธีคิดว่าถ้าใครอยู่ที่ไหนนานๆ ก็จะมีการสร้างอิทธิพล กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในหน่วยนั้นๆ ซึ่งมันคือมุมมองในเชิงลบอย่างเดียว แต่ถ้ามองในมุมบวก แม้แต่องค์กรเอกชนเขายังต้องการคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ ทำให้เรื่องแบบนี้มันไปลดความแข็งแรงในความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ลง


ตั๋วช้าง เด็กนาย เส้นสายอุปถัมภ์

หากย้อนดูแผนปฏิรูปตำรวจที่ริเริ่มมาตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหาร 2557 โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายใต้ กรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตั้งต้นศึกษาการปฏิรูปกิจการตำรวจ โดยมีสาระสำคัญคือการจัดระเบียบองค์กร รื้อโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และพัฒนาคุณภาพตำรวจชั้นผู้น้อย

ในประเด็นการแต่งตั้งนายตำรวจ ต้องยึดหลักอาวุโส และมีผลงานดี ผ่านเกณฑ์ประเมิน และปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ป้องกันการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง จนมาสู่การผลักดันกฎหมายฉบับสำคัญคือ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 ต.ค.65 

หลังผ่านไปร่วม 1 ปี แม้ว่าปัจจุบันจะมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ แต่ความอีรุงตุงนังดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร.และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พร้อมทนาย ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. และกรรมการ ก.ตร 9 คน ที่มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91

เนื่องจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีลำดับอาวุโสเป็นลำดับที่ 4 แต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง.(4)มีหลักการให้การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงความอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน แต่นายกรัฐมนตรีกลับเสนอชื่อ ซึ่ง อดีต ผบ.ตร.เห็นว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จากดราม่าดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าสูตรสำเร็จของการไต่เต้าสู่จุดสูงสุดของอาชีพข้าราชการ ถ้าไม่เพียรพยายามมากพอ อีกช่องทางที่ถูกใช้มากที่สุดก็คือ ‘เงิน’ ที่เสมือนใบเบิกทางสู่ตำแหน่ง แต่ในกรณีของแวดวงตำรวจสิ่งที่สะเทือนวงการที่สุดคือ ‘ตั๋วช้าง’ หลัง รังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายแฉในสภาในการเลื่อนชั้นยศ ผ่านคอนเนคชันที่ใกล้ชิดกับ ‘ชนชั้นสูง’

ในแง่มุม ‘จอมเดช’ มองว่าเรื่องการเติบโตในองค์กรตำรวจมีเรื่องเส้นสายเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวงการตำรวจ เพราะประเทศไทยมีค่านิยมในเรื่องระดับชั้นยศ ทำให้เกิดความเกรงใจผู้มีบารมี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเจริญเติบโตก้าวหน้าต้องได้รับความเอ็นดู หรือการถูกเลือกจากผู้ใหญ่ในประเทศ

“คือเรื่องเส้นสายไม่ได้มาจากการประจบประแจงอย่างเดียว ในต่างประเทศเขาเรียกว่า recommendation คือการแนะนำอย่างเปิดเผยจากผู้บังคับบัญชา เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจรองรับ

“แต่ระบบบ้านเราที่เรียกว่าระบบตั๋ว มันเป็นเรื่องลับลวงพราง ในการแต่งตั้งเขาก็รู้กันว่าใครมาจากตั๋วใคร แต่เราไม่ได้เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาแบบต่างประเทศ เพราะฝรั่งเขาไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร แต่บ้านเรามันมีความเกรงใจผู้ใหญ่ในบ้านเมือง 

“ในกรณีที่ตัวชี้วัดมันไม่ขาด ผมก็เห็นด้วยนะวิธีนี้ ยกตัวอย่างเช่นมี 4 คน ทำงานเป็นทุกคน มีจริยธรรมไม่เคยทำผิดเหมือนกัน ถ้าผู้ใหญ่เลือกก็ต้องเลือก”

อย่างไรก็ตามการเจริญก้าวหน้าก็ไม่จำเป็นต้องใช้เส้นสายเพียงอย่างเดียว หลายคนที่ทำผลงานดีเข้าตาผู้ใหญ่ ก็ส่งผลให้ได้รับตำแหน่งดีๆ การที่จะมองว่าได้ดีเพราะประจบเจ้านายก็ไม่ใช่เรื่องถูกเสมอไป เพราะผู้บังคับบัญชาก็ต้องประเมินผลงานลูกน้อง แล้วเลือกคนที่ผลงานดีมาปั้นให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งกรณีแบบนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรม

อ้างอิง

https://policebudget.go.th/drupal/sites/default/files/%E0%B8%9E.%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%93%2066%20%28%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%94%29.pdf

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1091441



พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog