กลุ่ม New Consensus Thailand จัดการเสวนาในหัวข้อ "องค์กรอิสระไทย อย่างไรต่อดี?" โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุย ประกอบด้วย นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอรัปชัน, และ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพ เขตบางแค พรรคก้าวไกล
"สมลักษณ์" หนุนประชาชนเลือกตั้ง ป.ป.ช.โดยตรง
นางสมลักษณ์ กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระเกิดขึ้นเริ่มต้นมาตั้งแต่หลังยุค 14 ตุลาฯ 2516 ถ้าเราย้อนไปดูก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารจะมีเหตุผลหนึ่งคือมีการทุจริตเกิดขึ้นมากจึงต้องเข้ามาจัดการ แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่าทุกคณะรัฐประหารต่างก็มีปัญหาการทุจริตเช่นกัน เรามักจะพบเสมอว่าบรรดานายพลที่ก่อรัฐประหารมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังลงจากอำนาจ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้มีการตั้งองค์กรขึ้นมาคือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ป.) ขึ้นมา ต่อมาจึงมีการตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 2540
แต่ปัญหาคือที่มาของกรรมการสรรหา มีการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายบริหารมากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน ในที่นี้ต้องยอมรับว่าการเมืองมีส่วนสำคัญมาก แต่ส่วนตนที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน เห็นว่าแม้นักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลเข้ามายุ่งกับกรรมการ ป.ป.ช. แต่ถ้าตัวกรรมการไม่ยุ่งด้วย ไม่เปิดทางให้ การเมืองก็เข้ามายุ่งไม่ได้ ดังนั้น ตัวกรรมการก็มีความสำคัญ ถ้าใจแข็งเขาก็ยุ่งกับเราไม่ได้ ป.ป.ช.ต้องทำงานตามกฎหมาย ถ้าพยานหลักฐานมันไปไม่ถึงเราก็ไปกล่าวหาเขาไม่ได้ เราต้องธำรงความยุติธรรม ตายก็นอนตาหลับ
"เรื่องสำคัญ คือเราจะทำอย่างไรที่จะได้ผู้มาดำรงตำแหน่งที่เป็นคนดี ประเด็นก็คือ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพราะฉะนั้น จะเกี่ยวข้องกับรัฐไม่ได้เลย การที่เราจะได้กรรมการในองค์กรอิสระที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่กรรมการสรรหา ในรัฐธรรมนูญปี 40 กรรมการคัดสรรประกอบด้วยประธานศาล, อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน, และมีกรรมการสรรหาที่มาจากพรรคการเมืองที่มีผู้แทนในสภา เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน รวม 15 คน แต่ตอนนี้เรามีประธาน 3 ศาล ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน รวมแค่ 5 คน แต่ส่วนตัวคิดว่าทำไมเราไม่เลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกเลยทั้งหมด จนมีคนแย้งมาว่าให้ประชาชนเลือกเข้ามาไม่ได้ เพราะอาจจะเกิดปรากฏการณ์แบบสภาผัวเมียขึ้นอีก แต่ส่วนตัวก็คิดว่าแล้วถ้าครอบครัวนี้เป็นคนดีทั้งครอบครัว ประชาชนเลือกเขามาแล้วทำไมจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าให้ประชาชนเลือกจะสวยงามมาก ไม่ได้มาจากคนมีอิทธิพล คนที่มาตรวจสอบอำนาจของรัฐจะให้คนของรัฐเลือกได้อย่างไร ไม่ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ” สมลักษณ์ กล่าว
สมลักษณ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ซึ่งในอดีตกระบวนการตรวจสอบถอดถอน ป.ป.ช.เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ต้องรวมรายชื่อประชาชนไปยื่นที่สภา แต่ว่าการตรวจสอบวันนี้ ศาลฎีกาได้วางแนวทางไว้แล้วว่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ ป.ป.ช.สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับศาลฎีกาได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่ศาลฎีกาได้ชี้ช่องเอาไว้แล้ว
"วีระ" อัด ป.ป.ช.ปัดตกทุกคดี ประวิตร-คสช.ทุจริต ท้าทายสังคม
ด้าน นายวีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ค่อยเห็นผลงาน ป.ป.ช.ที่เป็นโบว์แดง บางคนอาจจะบอกว่าคดีที่ ป.ป.ช.ตัดสินชี้มูล ดร.ทักษิณ ชินวัตร หรือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นความสำเร็จ แต่ในความเห็นของตนยังไม่จัดว่าเป็นโบว์แดง เพราะในความรู้สึกของประชาชน เขามองเป็นเรื่องการเมือง เป็นการตัดสินลงโทษเพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่
ที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีล่าสุด นาฬิกา 22 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คนเขามองเป็นการเมืองหมด ประชาชนจะให้การยอมรับหรือจะให้ความเชื่อถือศรัทธาการทำงานของ ป.ป.ช.จะต้องไปดูว่าเจตนารมณ์ของการให้มี ป.ป.ช.เพื่ออะไรในอดีตเรามี ป.ป.ป.แต่ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าเป็นเสือกระดาษ เพราะไม่มีผลงานจริงๆ ไปอยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มาจนถึง ป.ป.ช.วันนี้ก็ยังถูกมองว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยว ความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.จะมีได้ต้องปลอดการเมือง ไม่มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีการเมืองเข้ามาตลอด โดยเฉพาะในระยะหลังยิ่งชัด นับจากวันที่ คสช.เข้ามามีอำนาจ
"ผลงานที่ออกมาประชาชนไม่ยอมรับเลย โดยเฉพาะคดีหลังๆ มา ทุกเรื่องที่คนใน คสช.ถูกกล่าวหา ป.ป.ช.ปัดตกหมด ไม่เคยรับไว้ไต่สวนเลย ผมเป็นคนที่ยื่นมากที่สุดคนหนึ่ง ป.ป.ช.ตีตกหมดไม่ว่าเรื่องนาฬิกา เรื่องจงใจแจ้งบัญชีทรัพยสินหนี้สินเป็นเท็จ เรื่องความร่ำรวยผิดปกติของ พล.อ.ประวิตร ที่ผ่านมา 3 ปีแล้วยังอยู่ในชั้นตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นอยู่เลย ซึ่งเรื่อง พล.อ.ประวิตรนี้ท้าทายสังคมมาก ถึงขนาดบัญญัติศัพท์ใหม่ ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ป.ป.ช. ในเรื่องของการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือความร่ำรวยผิดปกติและความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน เดี๋ยวนี้ไปไกลมาก เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต่อไปจะไม่มีคนที่จะผิดแล้ว จะผิดเฉพาะคนที่เขาอยากให้ผิด ใครก็ตามที่ไม่ใช่พวกเขา ถ้าใครเป็นพวกเขาก็จะไม่ผิด” นายวีระกล่าว
นายวีระ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นแบบนนี้มันจะทำลายศรัทธาและความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.ในที่สุด มีหลายคนมาถามตนว่าล้ม ป.ป.ช.ไปเลยดีไหม ตนแย้งว่าไม่ได้ ถ้าจะไม่มี ป.ป.ช.เราจะใช้ใครมาช่วยแก้ปัญหาคอรัปชันของประเทศ เราต้องแก้ที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ตัวองค์กร ตัวบุคคลที่เข้าไปเป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ต่างหากที่เป็นปัญหา การได้คนไม่ดี ไม่ทำตามกฎหมาย ไปบิดเบือดกฎหมายต่างหากที่ทำให้เกิดความเสียหาย มันมีวิธีแก้ไขอยู่ ที่เราต้องมาคิดกัน ที่สำคัญสังคมและประชาชนต้องแสดงออก คนที่รักษากฎหมายถ้าทำตัวไม่ดีแล้วประชาชนพากันเพิกเฉย ปล่อยปะละเลย มันจะไปกันใหญ่ แต่ถ้าสังคมไม่ยอม ลุกขึ้นมาพร้อมๆ กันคนพวกนี้ก็จะอยู่ไม่ได้
"ณัฐพงษ์ ก้าวไกล" ชูโมเดล "หุ่นไล่กา" ทำ open government ให้ประชาชนเข้าถึงได้
ขณะที่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการตรวจสอบก็คือการทำให้โปร่งใส โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องมาคิดกันว่าจะปรับปรุงอย่างไร ทำให้ตรวจสอบนักการเมืองได้มากขึ้น สิ่งที่เราเรียกร้องคือ open government หรือ open data คือการเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงดูได้ ทุกวันนี้รัฐอ้างว่ามีการเปิดเผยอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมันเปิดเผยในรูปแบบของข้อมูลที่เครื่องไม่สามารถอ่านออกได้ การเปิดเผยข้อมูลไม่ใช่แค่การเปิดสัญญาจ้างเป็นไฟล์ .pdf แล้วจบ การเปิดเผยข้อมูลต้องอยู่ใน format เดียวกันที่ทุกคนอ่านได้ ข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้ ตั้งแต่ที่มาของโครงการ ขั้นตอนการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งหมดถ้าอยู่ใน format เดียวกันที่อ่านได้ การตรวขสอบจะง่ายขึ้นและวัดผลได้มากขึ้น ปัจจุบันเรามีโปรแกรมนี้อยู่แล้ว แต่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐกันเองและไม่เปิดเผยให้ประชาชน สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเห็น ทุกคนเข้าไปช่วยกันตรวจสอบได้
"การเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นวิธีการที่จะทำให้นักการเมือง ข้าราชการ มีความกลัวมากขึ้น ที่ผ่านมาเราใช้วิธีการออกระเบียบ สร้างอุปสรรคต่างๆ ที่มีความซับซ้อนเกินพอดี เหมือนเอาตาข่ายไปดักนก แต่นกก็หาทางบินอ้อมไปได้อยู่ดี สิ่งที่นกกลัวไม่ใช่ตาข่าย แต่กลัวคนเขาถึงทำหุ่นไล่กาไว้ไล่นก เช่นกัน ถ้าเราทำให้คนโกงรู้สึกว่ามีคนเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เปิดเผยข้อมูลให้คนทั้งประเทศเอาไปตรวจสอบได้ คนโกงจะกลัว ทำอะไรได้ยากขึ้น ผมเชื่อว่านี่ป็นเครื่องมือที่จะป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยึดในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่ต้องทำให้ทุกคน check and balance กันได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดกลไกกระบวนการตรงนี้ ที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบถอดถอนองค์กรอิสระได้ ถ้ามีคนบิดเบือนกฎหมาย ต้องมีช่องทางให้ประชาชนข้าไปแก้ไขตรงนั้นได้
นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทุกวันนี้ตนเหนื่อยหน่ายมากเวลาภาครัฐเปิดเผยข้อมูลออกมา โดยให้มาเป็นกระดาษแล้วให้ประชาชนมานั่งตรวจเอง ประชาชนจะตั้งใจอยากเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้นถ้าภาครัฐทำให้มันง่ายขึ้น และนี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากเข้าไปผลักดัน ทำให้เกิดการเผิดเผยข้อมูลในลักษณะที่อ่านง่ายและประชาชนทุกคนเข้าถึงได้
อ่านเพิ่มเติม