สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (AHPR) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายของสมาชิกรัฐสภาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญไทยให้หยุดดำเนินคดีที่เข้าข่าย 'จ้องจัดการพรรคอนาคตใหม่' ขณะเดียวกันกลับเพิกเฉยหรือมองข้ามกรณีและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่คล้ายกันที่มีต่อพรรคที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับกองทัพ
เนื้อหาในแถลงการณ์ภาคภาษาไทยของ APHR ระบุว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 ก.พ. 2563 โดยชี้มูลความผิดว่ามีการฝ่าฝืนมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เนื่องจากการกู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นจำนวนเกิน 10 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน เป็นการลงโทษที่ "ดูไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง"
"เมื่อหันไปมองคดีความจำนวนมากที่ดำเนินต่อพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรคตั้งแต่พรรคก่อตั้งขึ้น เป็นเรื่องยากที่จะไม่ตั้งคำถามว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นภัยต่อสถาบันการเมืองที่กำลังกุมอำนาจใช่หรือไม่" เอเบล ดาซิลวา สมาชิกรัฐสภาประจำประเทศติมอร์-เลสเต และสมาชิก APHR กล่าวในแถลงการณ์
แถลงการณ์ของ APHR ระบุด้วยว่า ช่วงเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 ได้รับเสียงจากประชาชนมากกว่า 6 ล้านเสียง และได้ที่นั่งทั้งหมด 80 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นมา สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ก็ตกเป็นเป้าโจมตีของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพรรคถูกดำเนินคดีมากกว่า 30 คดี ภายใต้กฎหมายต่างๆ ที่กฎหมายจำนวนมากไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่เพิ่งรอดการยุบพรรคมาอย่างหวุดหวิดเมื่อเดือนที่แล้ว โดยศาลตัดสินว่าหัวหน้าพรรคไม่ได้มีความผิดฐานล้มล้างการปกครอง ผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่างออกมาบอกว่า รัฐบาลและสถาบันของรัฐมีอคติทางการเมืองจากการจ้องจัดการพรรคอนาคตใหม่ ขณะเดียวกันกลับเพิกเฉยหรือมองข้ามกรณีและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่คล้ายกันที่มีต่อพรรคที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับกองทัพ
"คำตัดสินนี้ส่งสัญญาณให้กับประชาชนหกล้านคนว่าเสียงของพวกเขาไม่มีความหมายเลย" ฟรานซิสกา กาสโตร สมาชิกรัฐสภาประเทศฟิลิปปินส์และสมาชิก APHR กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า "การเลือกตั้งปีที่แล้วควรจะช่วยปิดฉากการปกครองโดยทหารในประเทศไทย แต่หลังจากที่คำตัดสินของศาลออกมาวันนี้ ไม่มีใครสามารถโดนหลอกให้เชื่อได้ว่ามันเป็นเช่นนั้น"
แถลงการณ์ของ APHR ระบุว่า นอกเหนือไปจากการยุบพรรค สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ยังต้องเจอการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอีก และบางคดีอาจนำไปสู่การจองจำสมาชิกพรรค ทั้งนายธนาธร และสมาชิกอีกคนหนึ่ง คือ นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการจัดชุมนุมใจกลางกรุงเทพฯ ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงรัฐบาลที่พยายามจะยุบพรรคอนาคตใหม่ เจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินคดีกับทั้งสองคน ฐานชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่ สอดคล้องกับทิศทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลหลายประเทศสกัดกั้นพรรคฝ่ายค้านด้วยการดำเนินคดีอาญาโดยใช้ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลหรือคลุมเครือ และใช้อาชญากรรมเหล่านั้นเป็นข้ออ้างในการถอนสภาพการเป็นสมาชิกรัฐสภา จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า 'นิติสงคราม' หรือ lawfare
รูปแบบการดำเนินคดีเช่นนี้ปรากฏให้เห็นในประเทศกัมพูชา ที่มีการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติซึ่งเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวที่มีประสิทธิภาพ และมีการดำเนินคดีที่กุขึ้นมาต่อสมาชิกพรรคและนักกิจกรรม เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการตัดสินจำคุกหรือดำเนินคดีอาญาที่น่ากังขาต่อสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยวิจารณ์นโยบายสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์
ส่วนพรรคการเมืองในไทยอีกจำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิเพราะคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยโดนให้สิ้นสภาพพรรคในปี 2550 หลังเกิดเหตุรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ส่วนพรรคที่ใกล้ชิดกับกองทัพและสถาบันการเมืองนั้นไม่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน และการกระทำเช่นนี้นำไปสู่ข้อครหาเรื่อง 'อคติทางการเมือง'
"ท่ามกลางพรรคการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากที่โดนตัดสิทธิ เป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าพรรคใดก็ตามที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองของทหารและสถาบันรัฐ จะไม่ได้รับการละเว้น" กาสโตร กล่าว
นิโคลัส เบเกวลิน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 21 ก.พ.2563 ระบุว่า คำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของทางการไทยใช้กระบวนการทางกฎหมาย 'คุกคาม' และ 'แทรกแซง' พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ไทยจึงควรจะพิจารณาทบทวนยกเลิกคำตัดสินยุบพรรค รวมถึงฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจัง
เนื้อหาในแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่นั้น 'คลุมเครือ' และตีความได้อย่างกว้างขวางเกินไปที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย สมาชิกรัฐสภาทุกคน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคในประเทศไทย หาทางปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ส่วนประชาคมโลก 'ที่ยังคงเงียบงันไร้ท่าทีต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย' ต้องแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลถูกทำให้กลายเป็นพวกนอกกฎหมาย
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ Asia Times เผยแพร่บทความ Thanathorn’s demise puts Thailand on the brink ซึ่งระบุว่า จุดจบของธนาธรทำให้ประเทศไทยอยู่ปลายขอบเหว โดยอ้างอิงความเห็นของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ในคดี 'เงินกู้' สะท้อนให้เห็น 'อคติทางการเมือง' ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับรูปคดี
บทความดังกล่าวพาดพิงกรณีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยเรื่องคล้ายคลึงกัน คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดเลี้ยงระดมทุนโต๊ะจีนได้เงินกว่า 600 ล้านบาท แต่กลับได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ รวมถึงกรณีที่ กกต.ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.พึงมีของพรรคการเมืองต่างๆ แต่เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุด คำตัดสินยุบพรรคจึงทำให้ประเทศไทยเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้าอาจนำไปสู่การประท้วงรอบใหม่ ไม่ว่ากองทัพจะขู่เอาไว้แล้วว่าทหารพร้อมจะใช้กำลังเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบ
ส่วนท่าทีของต่างประเทศ มีการออกแถลงการณ์ในนามโฆษกของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ระบุว่า การตัดสินยุบอนาคตใหม่ "เป็นความปราชัยของพหุนิยมประชาธิปไตย" อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและอียู โดยอาจจะถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป ขณะที่อียูเพิ่งคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงดังกล่าวกับเวียดนามไปเมื่อไม่นานมานี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: