ไม่พบผลการค้นหา
พูดคุยกับ 'ปุ๊น-ตรีรัตน์' คนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย ที่ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ให้เปิดกว้างสำหรับคนพิการ ไม่ใช่เพียงแค่โอกาสในการทำงาน แต่เป็นโอกาสในการใช้ชีวิต และเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเหมือนคนทั่วไป

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส นักธุรกิจ และคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านต้อนรับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' พร้อมโชว์การเล่นเปียโนในเพลง 'รัก' ให้ทีมข่าวและ 'เฮียหมู' พี่ชายผู้พิการทางสมองฟัง

ปุ๊น เล่าให้ฟังว่า เค้าและพี่ชายสนิทกันมาก แม้พี่ชายจะพิการตั้งแต่เด็ก พูดไม่ได้ แต่พวกเขาสื่อสารกันด้วยสายตา เพราะหลังจากธุรกิจล้มละลายไปเมื่อวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง พ่อแยกทางกับแม่ ทำให้แม่กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เขาต้องช่วยแม่และพี่เลี้ยงดูแลพี่ชาย ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน เขาตื่นและเข้านอนพร้อมพี่ คือ 19.30 น. และ 05.30 น. เพราะต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้พี่ที่ไม่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้ หลังเลิกเรียนก็จะต้องพาพี่ไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล ส่วนกิจกรรมยามว่างคือการเล่นเปียโนให้พี่ชายฟัง เพราะพี่ชายชอบฟังดนตรี Acoustic ไม่ชอบดูการ์ตูน ถ้าวันไหนที่ปุ๊นนั่งดูการ์ตูน เฮียหมูก็จะส่งเสียงร้องและดึงเขาลงมาจากโซฟา นอกจากจะดูหนัง แต่สมัยนั้นก็ไม่มีช่องทีวีให้เลือกมากนัก ปุ๊นกล่าวด้วยรอยยิ้ม

"ความจริงผมอยากเล่นแคลริเน็ตนะ เพราะตอนนั้นภาพยนตร์เรื่อง Seasons Change กำลังดัง แถมได้แต่ตัวเท่ห์ๆ ในวงโยธวาทิต แต่ว่าฟันเหยิน เป่าแล้วลมออก"



ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส.JPG

ปุ๊น พูดด้วยอารมณ์ขัน พร้อมเล่าว่า ตอนเด็ก นอกจากจะเล่นเปียโนให้พี่ชายฟังแล้ว ยังใช้เปียโนเป็นข้ออ้างในการนอนดึกบ้าง โดยบอกพี่เลี้ยงว่าขอซ้อมเปียโนให้พี่ฟังพรุ่งนี้บ้าง ส่งการบ้านครูบ้าง จึงทำให้เขาเชี่ยวชาญ จนสอบเข้าเรียนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทำงานเป็นนักแต่งเพลงในเวลาต่อมา

ปุ๊นเชื่อว่า ดนตรี ทำให้เขารู้จักฟังและการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างมากขึ้น เช่น เฮียหมูที่ไม่สามารถพูดได้ แต่ก็สามารถดูแลเขาได้ จากสังเกตสายตา รอยยิ้ม และพฤติกรรม

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส.JPG

ตรีรัตน์ กล่าวอีกว่า เมื่อก่อนตอนที่พี่ชายยังเด็ก น้ำหนักตัวไม่มาก เขายังสามารถเดินได้บ้าง ตนและพี่ชายจะไปเที่ยวเล่นต่างจังหวัดกันแทบทุกเสาร์-อาทิตย์ เช่น ทุ่งทานตะวัน ภูเขา น้ำตก หรือสถานที่เที่ยวต่างๆ แต่เมื่อน้ำหนักตัวมากขึ้น เขาก็เดินไม่ได้ และต้องอยู่ติดบ้าน ในสายตาเขา แม่ และพี่เลี้ยง 'เฮียหมู' คือคนในครอบครัวคนหนึ่ง ทุกคนไม่เคยมองว่าเขาผิดปกติ แต่เวลาออกไปข้างนอก กลับถูกคำถามจากคนข้างนอก และมองด้วยสายตาแปลกๆ หรือบางครั้งก็ห้ามไม่ให้เข้าใกล้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ปุ๊นรู้สึกไม่ดี

แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น รถเข็นคนพิการ ถนน รถเมล์, สะพานลอย ที่จอดรถ, หรือแม้แต่เครื่องบิน ก็เป็นอุปสรรค์ที่ทำให้พี่ชายของปุ๊น ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก หรือเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้เหมือนคนทั่วไป ทั้งที่ครอบครัวของเขาก็เสียภาษีเหมือนทุกๆครอบครัว

"บางทีคนเรามันเลือกเกิดไม่ได้ แต่มันเลือกว่าเขาเกิดมาแล้วเราจะดูแลเขาให้ดีที่สุดได้อย่างไร มันแค่ตรงนั้น แล้วจะไม่ให้เค้าไปไหนให้เค้านั่งอยู่บ้านเหรอ? เค้าก็เป็นคนเหมือนกันเค้าก็อยากเที่ยว ทุกวันนี้ผมก็พาเค้าไปกินข้าว ไปเอ็มเค ไปกินสุกี้ เราพยายามใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วคนพิการควรจะเป็นคนปกติในสังคมที่คนในสังคมยอมรับกันได้ แต่วันนี้การที่เป็นผู้พิการกลับกลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่งไปเลย"

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส.JPG

ปุ๊น เล่าต่อไปว่า เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง พาพี่ชายไปเที่ยว แล้วขากลับรถเสีย ต้องนั่งรถเมล์กลับมา แล้วเดินเข้าซอยบ้าน แต่ถนนไม่เรียบ เฮียหมูสะดุดล้มฟันหน้าหัก ซึ่งตนมองว่าสำหรับเราที่มีอวัยวะครบ 32 ส่วน คงไม่เป็นไร แต่สำหรับคนพิการ ขั้นเล็กๆ ไม่กี่ขั้น สัญญาณเตือน หรือแผ่นกันลื่นไม่กี่แผ่น มันสำคัญมากสำหรับพวกเขา ชวนให้ตั้งคำถามว่าภาครัฐใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้จริงๆ หรือไม่? คนออกนโยบายที่มีครบ 32 เคยลงมาใช้งานจริงหรือไม่? หรือเพียงเพราะคนพิการบางคนพูดไม่ได้ หรือหากพูดได้ เสียงของพวกเขาก็ไม่ดังพอ ให้ภาครัฐใส่ใจหรือไม่?

ตนมองว่า สิ่งทีี่รัฐบาลควรจะทำตอนนี้ ไม่ใช่สร้างของใหม่ แต่ปรับปรุงของเก่าที่มีอยู่ให้มันดีขึ้น และสามารถใช้งานได้จริงกับทุกคน เช่น ทางเท้า ที่ไม่มีทางลงสำหรับรถเข็นคนพิการ หรือไม่มีช่องสำหรับรถเข็น เป็นต้น

"ทุกวันนี้รัฐบาลส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ แต่การเดินทางของคนพิการไปทำงานก็ยากลำบากอยู่ดี"



ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส.JPG
"ขนส่งมวลชน ทุกวันนี้กลายเป็นเครื่องแบ่งชนชั้นในสังคม คนที่ไม่รวยก็ต้องทนกับรถติดและมลพิษบนรถเมล์ ส่วนคนที่มีเงินขึ้นมาหน่อยก็ใช้รถไฟฟ้า ต่างกับประเทศพัฒนาแล้วที่ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน"

ขนาดคนปกติยังเดินทางลำบาก แล้วคนพิการยิ่งไม่ต้องคิดถึง นอกจากนี้เรื่องของการบริการในโรงพยาบาล เอกชนก็มีราคาแพง ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็ต้องรอนาน 4-5 ชั่วโมง และไม่มีระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่มารอรับการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ และผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นต้น

เรื่องราวของพี่ชาย และแม่ที่ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้ 'ปุ๊น ตรีรัตน์' เลือกเส้นทางในสายการเมือง หลังจากประสบความสำเร็ฌจในภาคธุรกิจแล้ว ซึ่งปุ๊นเชื่อว่าตนจะสามารถเข้ามาเปลี่ยนสังคมให้เปิดกว้างสำหรับผู้พิการ และคนทุกกลุ่มมากขึ้น

"เมื่อก่อน พี่จะมานั่งหน้าบ้านทุกวัน รอส่งเราไปโรงเรียน หรือรอรับเรากลับจากโรงเรียน แต่สิ่งที่เรารับรู้ได้จากสายตาเขา คือ เราต้องเป็นตัวแทนเขาในการใช้ชีวิตกับโลกภายนอก"