ไม่พบผลการค้นหา
สมคิด เรียกประชุมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ กระตุ้นเบิกจ่ายงบลงทุนตามแผน หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน จี้รายตัว ขอให้เร่งมือทำ แจงหารือโรงงานยาสูบหาวิธีเพิ่มรายได้ ด้าน ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจย้ำเป้าหมายเบิกจ่ายร้อยละ 95 ตามมติ ครม.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังในวันนี้ (29 พ.ย. 2560) ว่า เนื่องจากเหลืออีก 1 เดือนของไตรมาส 4 ตามปีปฏิทิน จึงต้องมาดูว่า รัฐวิสาหกิจรายใดตกเป้าเบิกจ่ายงบลงทุนบ้าง และต้องเร่งแก้ไข 

ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2561 ก็ต้องทำให้มั่นใจว่า จะสามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน ส่วนรายได้มีอุปสรรคปัญหาก็ต้องจัดการให้เสร็จ เช่น กรณีการลงทุนรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็จะนำสัญญาที่ทำใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เร็วๆ นี้ 

รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ยังกล่าวถึงกรณีโรงงานยาสูบ ขอให้ทบทวนกฎกระทรวงเรื่องอัตราภาษีสรรพสามิต เพราะอาจส่งผลให้มีรายได้ส่งรัฐลดลงว่า เรื่องภาษีให้คุยกับรัฐมนตรีคลัง แต่เราก็หารือกันว่า จะมีวิธีไหนช่วยเหลือให้โรงงานยาสูบ ให้มีรายได้เพิ่มเติมหรือไม่ด้วย 

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า เรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เพียงหวังผลด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่เป็นยึดกุมสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถของประเทศ 

สำหรับปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจ มีงบกรอบงบลงทุนทั้งสิ้น 796,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 52 โดยมติ ครม. กำหนดให้แต่ละรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2561 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 

โดยช่วงที่ผ่านมา ยังมีรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าร้อยละ 80 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รฟท. การประปาส่วนภูมิภาค การทางพิเศษแห่งประเทศไทย บมจ.ท่าอากาศยานไทย และบมจ.การบินไทย

นายสมคิด ยังกล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (28 พ.ย.) กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้นำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่มีอยู่ราว 3 แสนล้านบาท และสามารถแบ่งออกมาประมาณ 1 ล้าน 7 แสนบาท เพื่อนำใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น 

โดยหลังจากนี้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลาง จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงระเบียบ ที่ทำให้ที่ผ่านมา ไม่สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่นได้ กำหนดระยะให้ปล่อยเงินออกมาให้ได้ภายใน 4 เดือนหลังจากนี้ 

สำหรับเงินสะสมของ อปท. ที่จะเบิกจ่ายออกไปใช้ได้ ชุมชนจะต้องทำโครงการเสนอเข้ามา ซึ่งอาจเป็นโครงการด้านการท่องเที่ยว การทำตลาดชุมชน และเบิกจ่ายเป็นล็อตๆ ไม่ใช่การเบิกจ่ายครั้งเดียว โดยเป้าหมายการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง