ไม่พบผลการค้นหา
มูลค่าของเงินสกุลดิจิทัล 'บิทคอยน์' พุ่งสูงเกิน 17,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 561,000 บาท) ต่อ 1 เหรียญ ช่วงค่ำวานนี้ (7 ธันวาคม) ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็มีแนวโน้มว่ามูลค่าบิทคอยน์จะยังขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจเกิดภาวะฟองสบู่แตกขึ้นได้

เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ รายงานว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บิทคอยน์มีราคาพุ่งสูงแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 40 ภายในสัปดาห์นี้ เป็นเพราะว่าจะมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม เพราะสหรัฐฯ จะเปิดให้มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์บิทคอยน์ครั้งแรกในตลาดเงินภายในประเทศ ซึ่งแม้จะยังไม่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจนในการตรวจสอบและควบคุม แต่ก็ทำให้มีผู้สนใจซื้อขายบิทคอยน์เป็นจำนวนมากเพื่อหวังผลกำไร

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ด้านการเงินหลายรายยังเตือนด้วยว่า การที่หน่วยงานกำกับดูแลเงินสกุลดิจิทัลยังไม่มีความชัดเจน อาจส่งผลให้กลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้ตลาดเงินดิจิทัลเป็นแหล่งฟอกเงินและซื้อขายสินค้าในตลาดมืดเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม

ส่วนเว็บไซต์ ดิอินดีเพนเดนท์/Digiconomist (ดิจิโคโนมิสต์) ซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุด้วยว่า กระแสความนิยมในเงินดิจิทัลสกุลต่างๆ ซึ่งรวมถึงบิทคอยน์ที่มีคนรู้จักมากที่สุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลกมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะการบันทึกข้อมูลหรือทำธุรกรรมบิทคอยน์ทั้งหมดต้องอาศัยซูเปอร์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่านบล็อคเชน ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีผู้ลงทุนกับบิทคอยน์มากขึ้น ย่อมส่งผลให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน

ข้อมูลของดิจิโคโนมิสต์ระบุด้วยว่า ประเทศที่มีผู้ซื้อขายและลงทุนในบิทคอยน์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือจีน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในกรณีของประเทศไทย ด็อกเตอร์ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัยของบริษัทจีเอเบิล เคยให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีก่อนหน้านี้ว่า การทำธุรกรรมบิทคอยน์เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่มีความเข้าใจมากนัก การลงทุนหรือการกำกับดูแลระบบโครงสร้างต่างๆ จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อน เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแลว่าเทคโนโลยีอย่างบล็อคเชนที่ใช้กับบิทคอยน์ออกแบบเอาไว้ดีหรือยัง มีความปลอดภัยและใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้หลายแบบ และอาจจะมีการใช้ผิดวิธีได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีหน้าที่วางระบบโครงสร้างต่างๆ จะต้องกำหนดเงื่อนไขหรือกฎระเบียบในการควบคุมดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสใช้กระแสบิทคอยน์หลอกหลวงประชาชน