ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร แสงกนกกุล' บอกคำสบถของ 'พ���.อ.ประยุทธ์' สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม-ปลุกช่วงชิงนิยามคำของฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมชู 4 แนวนโยบาย เชื่อวัฒนธรรมไทยไปได้กับวัฒนธรรมโลก

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเวทีเสวนา "พลังวัฒนธรรม กับการเมืองไทย" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วัฒนธรรมคือเรื่องวิธีคิด คือวิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมชนชาติไทยมีลักษณะพิเศษ ถูกกำหนดขึ้นจากชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ถ้าเกินกว่านี้ไม่ใช่ ซึ่งลุกลามมาถึงการที่หัวหน้า คสช. กำหนดค่านิยม 12 ประการ แล้วปลูกฝังในโรงเรียน ขณะที่วัฒนธรรมของสากลนั้น คือ การเลื่อนไหล เปลี่ยนตามช่วงเวลาและความนิยมของผู้คน 

ทั้งนี้ วัฒนธรรมยังเป็นเครื่องมือเปลี่ยนอุดมการณ์ความคิดของคนด้วย เช่น เรายึดหลักเสรีประชาธิปไตย แต่ด้วยเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่ฝังรากลึก ครอบงำเราอยู่ จะค่อยๆ กล่อมเกลาเราไปเรื่อยๆ งานวัฒนธรรม คือ การช่วงชิงความหมายของถ้อยคำ นิยามความหมายเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เช่นคำว่า ประชาธิปไตย สมัยกรีกโรมันเป็นคำที่แย่ แต่ปัจจุบันเป็นคำมาตรฐานแล้วทุกประเทศ แม้ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องบอกว่าเป็น เช่น ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

"หรือแม้แต่คำว่าคนดี ระยะหลังถูกทำให้เสียไป โดยคนกลุ่มหนึ่งสถาปนาตนเองว่าเป็นคนดี ส่วนคนอื่นเป็นคนไม่ดี ดังนั้น คนดีต้องยึดอำนาจมาปกครอง เรื่องนี้เราจำเป็นต้องช่วงชิงนิยามกลับมา อธิบายความหมายใหม่ในแง่ของฝ่ายประชาธิปไตยว่า คนดี คือ คนที่เคารพศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ เคารพความหลากหลาย เชื่อในเรื่องความเสมอภาค เชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมคิดว่าในปัจจุบัน วัฒนธรรมอำนาจนิยมยังครอบงำสังคมไทยอยู่ ดูได้จากคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญยึดอำนาจมา แต่วันนี้อ้างรัฐธรรมนูญทุกวัน หรือที่สบถออกมาว่ามึงมาไล่ดูสิ สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยม ไม่ใช่เรื่องความจริงใจหรือการเป็นคนพูดตรงๆ แต่ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาเชื่อว่าจะทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด นี่คือวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทยเรามาจนปัจจุบันนี้" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่ออีกว่า พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงความคิดคน เพราะถ้ายังเป็นวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ทหารยึดอำนาจก็จะกลับมาอีก นิรโทษกรรมตัวเองอีก สังหารหมู่กลางเมืองแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก พรรคอนาคตใหม่จะทำงานวัฒนธรรม 1.ภายในพรรคมีการจัดงานวัฒนธรรมทุกปี และ 2.นโยบายทางวัฒนธรรมที่จะผลักดันซึ่งคิดไว้ใน 3 มิติ คือ การเมือง ความคิดสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจ เป็นกรอบเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ธงหลักที่เราอยากเห็นคือ การปลดปล่อยงานวัฒนธรรมออกมา โดยนโยบายที่จะทำ ได้แก่ 1.แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในแสดงออก เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กฎหมายหมิ่นประมาท เป็นต้น 2.เปิดพื้นที่สาธาณะให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นที่และผู้คน 

3.สนับสนุนศิลปินแขนงต่างๆ ให้เข้าถึงระบบสวัสดิการ มีกองทุนด้านวัฒนธรรม และ 4.ใช้งานวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจส่งออกทั่วโลก รวมถึงทลายธุรกิจผูกขาดที่เกี่ยวกับงานวัฒนธรรม เช่น โรงหนัง สายส่งหนังสือ

นอกจากนี้ มีความตั้งใจจะลดภาษีให้เกิดการบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมให้มากขึ้น ส่วนการจัดเก็บภาษี เก็บได้จากงานวัฒนธรรมไหนต้องนำไปสนับสนุนกองทุนงานวัฒนธรรมนั้น ทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยสามารถไปได้กับวัฒนธรรมสากล เราสามารถเชิดชูวัฒนธรรมไทยได้โดยไม่ปฏิเสธโลกาภิวัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง