นาทีนี้คนที่งานเข้าไม่แพ้เจ้าของนาฬิการิชาร์ด มิลด์ ก็ต้องเป็นพิธีกรสาวสัตว์เลื้อยคลานนี่แหละ เพราะอีเรื่องร่ำรวย แจ้งทรัพย์สินก่อนหลัง คนที่สนใจ (มั้ง) ก็คงมีแต่ ป.ป.ช. ซึ่งเขาผู้นั้นอาจจะต้องทนกับสายตาคนจ่ายภาษีบ้านเราอีกนิดหน่อย (แล้วงัยคัยแคร์)
แต่สำหรับสาวสัตว์เลื้อยคลานแล้วไซร้ ตอนนี้ไม่ได้แค่ต้องทนการด่ารัวๆ ของคนในประเทศ เพราะมีคนอุตส่าห์ทำซับแปลคำด่า "กงยูไม่หล่อ" ให้แฟนคลับจีน-เกาหลี ได้ร่วมรับรู้ เรียกได้ว่าเตรียมรับมือกับความน่าสะพรึงกลัวของสาวกได้เลย
เรื่องหล่อไม่หล่อ จริงๆ เป็นเรื่องรสนิยม ร้อยคนก็ร้อยอย่าง เหมือนผู้หญิงนั่นแหละ สวยแบบคนนึงอาจไม่สวยสำหรับอีกคนนึง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ครอบเรื่องของรสนิยมส่วนตัวไว้ ก็คือความนิยมกระแสหลัก ซึ่งมักจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เลยต้องขอค้นกันหน่อยว่า หล่อแบบไทยๆ ที่ไม่ใช่แบบ "กงยู" ในอดีตนั้น มีแบบไหนกันบ้าง
เอกสารประวัติศาสตร์บ้านเราส่วนใหญ่มักบันทึกเรื่องราชการงานสงครามแต่ถ่ายเดียว เรื่องวิถีชีวิตรวมไปถึงรสนิยมอะไรต่างๆ เลยไม่ค่อยได้เห็น พอจะได้รู้อะไรบ้างก็ต้องอาศัยเอกสารฝรั่ง เช่น จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ บันทึกไว้นิดหน่อยถึงรูปลักษณ์ของชายชาวสยาม เช่น วงหน้ากระเดียดไปทางรูปขนมเปียกปูน หางตายกสูง แก้มตอบ ปากกว้าง จมูกสั้นปลายมน ผิวสีน้ำตาลแดง
และค่าที่ว่าไม่ว่าจะเป็นบันทึกหรือวรรณคดี ผู้แต่งมักเป็นชาย บทชมโฉมชายว่าแบบไหนหล่อ แบบไหนงานดีจึงแทบไม่มีให้เห็น แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่เลย เพราะ "บาทหลวงเดอะ แบส" พระฝรั่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เคยเขียนถึงความงามของผู้ชายตามค่านิยมสมัยนั้น โดยระบุว่าผู้งานดีก็คือ "เจ้าฟ้าน้อย" พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั่นเอง
เธอทรงมีพระสรีระโฉมโสภาสง่างาม มีพระฉวีวรรณค่อนข้างขาวอันเป็นค่านิยมของชนชาวสยาม
(บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส
เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน)
อ่ะ... อันแรกเลยนะคือต้องขาว คนสมัยอยุธยาถึงจะเรียกว่าชายงาม ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่นคงต้องหาเทียบเอาจากวรรณคดี "ลิลิตพระลอ"
ที่วัดจากลิลิตพระลอ ก็เพราะถ้าเรื่องอื่นๆ บทชมโฉมชายอาจไม่เด่นนัก อย่างมากก็ชมว่าผิวงามและอ้อนแอ้น เช่น ใน พระอภัยมณีตอนเปิดตัว บอกว่า "ชื่ออภัยมณีเป็นพี่ยา พึ่งแรกรุ่นชันษาสิบห้าปี อันกุมารศรีสุวรรณนั้นเป็นน้อง เนื้อดังทองนพคุณเจริญศรี" ชมอีกทีก็ตอนนางยักษ์มาลักพาตัว "ทั้งทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง”
ส่วน ลิลิตพระลอ นั้น จุดเริ่มต้นของโศกนาฎกรรมมาจากความหล่อล้วนๆ บทบรรยายตัวพระลอจึงต้องมาเต็ม ทำให้เห็นทัศนะความงามของผู้ชายเชิงอุดมคติในอดีต
เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า ผิบได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ดูเดือน ดุจแล
ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา
พิศกรรณงามเพริศแพร้ว กลกลีบบงกชแก้ว
อีกแก้มปรางทอง เทียบนา
ทำนองนาสิกไท้ คือเทพนฤมิตไว้
เปรียบด้วยขอกาม
พระโอษฐ์งามยิ่งแต้ม ศศิอยู่เยียวยะแย้ม
พระโอษฐ์โอ้งามตรู บารนี
หลักๆ คือวงหน้าเหมือนพระจันทร์ (กลม?) ตาเหมือนกวาง คิ้วโก่งคันศร จมูกโด่งเหมือนขอสับช้างของกามเทพ ปากเวลาแย้มเหมือนจันทร์ (เสี้ยว?) คนในสมัยอยุธยามองว่าดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกินตามแบบอุดมคติ แต่ถ้าถามคนยุคนี้ คงนึกไม่ออก
เห็นไหมว่าความหล่อเป็นเรื่องของรสนิยม มันเป็นของดิ้นได้ เปลี่ยนไปตามยุค และเหนืออื่นใด เป็นไปตามแต่ใจของมนุษย์แต่ละคน ไม่หล่อของเรา ไม่ใช่ไม่หล่อของคนอื่นๆ
กรณีศึกษาเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หนึ่ง คิดยังไงไม่ต้องพูดหมดก็ได้ สอง เรื่องเหยียดคนอื่นไม่ช่วยให้เราดูดีขึ้น และสาม คุณต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะด่าใครสักคน "ถ้าถูกด่ากลับต้องรับให้ได้"