ไม่พบผลการค้นหา
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้งในอินโดนีเซีย และการยึดเมืองที่ฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว เป็นฝีมือสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ทำให้มีคำถามว่า จะกระทบชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่ แต่นักวิชาการยืนยัน ทั้ง 2 กลุ่ม 'อุดมการณ์ไม่ตรงกัน' แต่ต้องระวังผู้ก่อเหตุแบบรายบุคคล (Lone Wolf)

ในช่วงเวลาไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธในอินโดนีเซีย 2 กลุ่ม ได้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพและโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายจุด ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 25 ราย ซึ่งหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ สื่อของอินโดนีเซีย รายงานว่า กลุ่มติดอาวุธเจมาห์ อันชารุต เดาลาห์ หรือ JAD เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรง 3 ครั้งที่เมืองสุราบายา ในจังหวัดชวาตะวันออก ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค. ได้แก่ เหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีโบสถ์คริสต์พร้อมกัน 3 จุด เหตุระเบิดอพาร์ตเมนต์ที่สิอาร์โดโจ และเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สถานีตำรวจเมืองสุราบายา

ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) คือกรณีที่คนขับรถตู้พุ่งชนตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และนักข่าวบาดเจ็บ 2 รายที่จังหวัดรีเยา บนเกาะสุมาตรา ส่วนผู้โดยสารชาย 4 คนลงจากรถเพื่อเตรียมตัวก่อเหตุโดยใช้ดาบซามูไรพยายามไล่ทำร้ายคนในสถานีตำรวจรีเยา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงวิสามัญฆาตกรรม

ส่วนคนขับที่หลบหนีไปได้ถูกติดตามจับกุมในเวลาต่อมา โดยจาการ์ตาโพสต์ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นสมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'ไอเอสแห่งอินโดนีเซีย' หรือ Negara Islam Indonesia (NII) ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มไอเอสเช่นกัน

อินโดนีเซีย-ก่อการร้าย-JAD-Densus88

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ระบุว่ากลุ่มติดอาวุธไอเอสได้ประกาศผ่านเว็บไซต์อามัก ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของกลุ่มเมื่อวานนี้ว่าการก่อเหตุในอินโดนีเซียช่วงที่ผ่านมา เป็นฝีมือของสมาชิกไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก่อนหน้านี้ก็มีคำเตือนจากหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติ ว่าภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอสจะลุกลามมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

เครือข่ายผู้สวามิภักดิ์ไอเอสพบกัน 'ทุกวันอาทิตย์'

การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองสุราบายาเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจประชาชนอินโดนีเซียไม่น้อย เพราะผู้ก่อเหตุ 2 ใน 6 คนเป็นเด็กหญิงอายุแค่ 9 และ 12 ปี โดยทั้งคู่ลงมือก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายเพื่อโจมตีโบสต์คริสต์พร้อมกับพ่อ แม่ และพี่ชายอีกสองคนที่มีอายุ 18 และ 16 ปี ซึ่งแม้แต่เพื่อนบ้านของครอบครัวผู้ก่อเหตุยังแสดงความเห็นผ่านสื่ออินโดนีเซียว่าไม่อยากเชื่อ เพราะครอบครัวดังกล่าวดูเป็นมิตร และไม่มีพิษมีภัย

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่ม JAD เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2558 โดยเครือข่ายชายชาวอินโดนีเซียที่มีแนวคิดสุดโต่งราว 20 คน ซึ่งประกาศตัวสวามิภักดิ์ต่ออาบู บักร์ อัล-บักดาห์ดี ผู้นำกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง

ขณะที่ ผบ.ตร.ติโต คาร์นาวิยัน ของอินโดนีเซีย เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมผ่านจาการ์ตาโพสต์ว่า ผู้นำกลุ่ม JAD คือนายอามาน อับดูเราะห์มาน ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เมืองเดป็อก จังหวัดชวาตะวันตก เพื่อรอการพิจารณาคดีที่เขาเป็นผู้วางแผนและมีส่วนร่วมก่อเหตุกราดยิงคนใจกลางกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ม.ค.2559

JAD-อินโดนีเซีย-ก่อการร้าย

นอกจากนี้ยังพบเบาะแสว่าผู้ก่อเหตุในเมืองสุราบายาซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม JAD ได้พบกับสมาชิกเครือข่ายคนอื่นๆ อยู่เป็นประจำระหว่างประกอบพิธีทางศาสนาในวันอาทิตย์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอุดมการณ์การต่อสู้ของกลุ่ม รวมถึงขั้นตอนการใช้อาวุธและการประกอบระเบิด ขณะที่กลุ่ม NII อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักโทษสายสุดโต่งแอบอ้างศาสนาอิสลามที่ก่อเหตุยึดเรือนจำย่านชานกรุงจาการ์ตาเมื่อต้นเดือน พ.ค. ทำให้เจ้าหน้าที่ในเรือนจำเสียชีวิต 6 นาย

การก่อเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่วันก่อนถึงเทศกาลถือศีลอดหรือเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมในอินโดนีเซียและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียประณามการก่อเหตุอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน

ไอเอส-ขบวนการใต้ดินชายแดนใต้ 'อุดมการณ์ไม่ตรงกัน'

ก่อนจะเกิดเหตุก่อการร้ายในอินโดนีเซียปีนี้ ก็มีกรณีที่กลุ่มติดอาวุธมาอูเต หรือมาวเต ซึ่งประกาศสวามิภักดิ์่ต่อกลุ่มไอเอส ใช้กำลังบุกยึดเมืองมาราวี ทางใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นเวลานาน 5 เดือน ตั้งแต่ 23 พ.ค.จนถึง 23 ต.ค.ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน และผู้ได้รับผลกระทบราว 1,700 คนต้องอพยพออกจากภูมิลำเนา รวมถึงได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างทหารฟิลิปปินส์และกลุ่มมาอูเต

การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สวามิภักดิ์ไอเอสใน 2 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุกอาจและพุ่งเป้าสถานที่สำคัญในหลายเมือง ประกอบกับเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทางการไทยจับกุมชายสัญชาติไทยเชื้อสายมลายูในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งแอบอ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มไอเอส ทำให้เกิดคำถามว่า "การขยายอิทธิพลของไอเอสจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเทศไทยหรือไม่"

นราธิวาส ไฟใต้ กกCover Template.jpg

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันก่อนหน้านี้ว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยร่วมมือกับมาเลเซียและอินโดนีเซียในการป้องกันและปราบปรามเครือข่ายก่อการร้ายในภูมิภาค ทั้งยังระบุด้วยว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคใต้ บังคับใช้มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธอย่างเข้มงวด 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบและผู้สังเกตการณ์กระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพของรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ขณะนี้ยังไม่พบการเชื่อมโยงกันระหว่างแนวร่วมกลุ่มไอเอสและขบวนการใต้ดินที่ต่อสู้กับรัฐไทย โดยอ้างอิงข้อมูลของหน่วยงานระหว่างรัฐบาล ซึ่งได้มีการประสานความร่วมมือกันทั้งฝ่ายไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

"เท่าที่ทราบในตอนนี้ กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐ เช่น พูโล บีอาร์เอ็น หรือจีไอเอ็มพี ยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส เพราะอุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้แตกต่างกัน และขบวนการในภาคใต้ของเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการโจมตีโดยไม่เลือกเป้า" 


"อุดมการณ์ในการต่อสู้ของกลุ่มในจังหวัดชายแดนใต้จะเป็นชาตินิยม มลายูนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยมบวกกับอิสลาม ไม่สอดคล้องกับแนวทางของ ISIS (ไอเอส) ซึ่งเน้นการปฏิวัติอิสลามและแนวทางสุดโต่งทางศาสนาที่มีความเป็นสากลมากกว่า แต่ไม่มีความเป็นชาติ ไม่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นมลายู"


ผศ.ดร.ศรีสมภพระบุด้วยว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของมาเลเซียและอินโดนีเซียได้รวบรวมข้อมูลประวัติพลเมืองของตนที่เดินทางไปยังซีเรียและประเทศอื่นๆ ที่เป็นฐานเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส พบว่าชาวอินโดนีเซียเดินทางไปร่วมกับกลุ่มไอเอสมากที่สุด จำนวนประมาณพันกว่าคน ตามด้วยมาเลเซียอีกประมาณ 500 คน รวมถึงฟิลิปปินส์อีกจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าจะมีคนจากประเทศไทยเดินทางไปบ้าง ก็น่าจะไปโดยใช้เอกสารสัญชาติอื่น เช่น มาเลเซีย

สิ่งที่น่ากังวลในทัศนะของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จึงไม่ใช่การเกี่ยวโยงในระดับองค์กร แต่เป็นความเคลื่อนไหวในระดับบุคคล ซึ่งมักจะเรียกกันว่า Lone Wolf หมายถึงผู้ก่อเหตุที่ตัดสินใจลงมือเพียงลำพังตามความเชื่อและอุดมการณ์ทางการต่อสู้ในระดับปัจเจก


"ถ้าหากจะมีที่น่ากังวล ก็น่าจะเป็นในลักษณะตัวบุคคล อาจจะเป็นวัยรุ่นที่มีแนวคิดคล้อยตาม (ไอเอส) และอาจจะลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งจะไม่มีหลักฐาน และเราคาดเดาไม่ได้ ทำให้ป้องกันได้ลำบาก"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: