ไม่พบผลการค้นหา
กสทช.ประกาศยุติิการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ทั้งที่จะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. นี้แล้ว เหตุ 3 ค่ายมือถือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตฯ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศยุติประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายสุดท้ายได้ประกาศไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จากก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เรื่องการไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ต่อจาก กลุ่มทรู ที่เป็นรายแรก ในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800

ทั้งนี้ ทั้ง 3 ราย ให้เหตุผลว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาวนั้น เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า คาดการณ์ผิด เนื่องจากการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ กสทช. จัดการประมูล ก่อนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นี้ 

พร้อมระบุว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่สามารถปรับลดเหลือ 16,000 ล้านบาท ตามที่ดีแทคเสนอ เนื่องจากจะเกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ที่ชนะการประมูลรอบที่แล้วในราคา ประมาณ 40,000 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วร้อยละ 70 ส่วนมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเปิดประมูลไม่ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน 

อย่างไรก็ตาม กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป โดยจะชี้แจงถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีผู้เข้าประมูล ซึ่งรัฐบาลน่าจะมีแนวทางที่เป็นทางออก สำหรับการปรับหลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่จะพิจารณาในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคา กสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคม เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว

ด้าน พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ระบุว่า กสทช. จะเร่งทบทวนเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ว่าจะสามารถปรับหลักเกณฑ์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะเมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลถือว่าไม่ส่งผลดีต่อประเทศ

พร้อมย้ำว่า แม้การปรับปรุงหลักเกณฑ์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือน เนื่องจากต้องเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่จะไม่มีใครได้ใช้คลื่นความถี่นี้ฟรีอย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะไม่มีมาตรการใดมาบีบให้ กสทช.ทำตามความต้องการได้ เพราะ กสทช.ได้จัดประมูลล่วงหน้าก่อนคลื่นความถี่หมดอายุสัมปทานถึง 3 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนคลื่น 1800 MHz จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. นี้ ผู้ใช้บริการยังมีเวลาในการเปลี่ยนย้ายค่าย

3 ค่ายมือถือพร้อมใจ 'ไม่เข้าประมูล'

ทั้งนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANCE (เอไอเอส) ได้แจ้งต่อ ตลท. เมื่อเวลา 12.39 น. วันที่ 15 มิ.ย. ระบุว่า บริษัทตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz โดยบริษัทพิจารณาเห็นว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ ยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทในขณะนี้ โดยบริษัทยังคงการลงทุนในโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพโครงข่ายและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะติดตามสถานการณ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการประมูลที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงอาจพิจารณาทบทวนผลกระทบและการตัดสินใจเกี่ยวกับการประมูลที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป 

ด้านบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้ง ตลท. เมื่อเวลา 7.00 น. วันที่ 15 มิ.ย. เรื่องไม่ยื่นขอใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz 

ขณะที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE แจ้ง ตลท. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ระบุว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz เช่นกัน

ข่าวเกี่ยวข้อง :