ไม่พบผลการค้นหา
"ศรีสุวรรณ" ร้องศาลปกครอง ระงับโครงการ EEC บางปะกง เหตุไม่ทำประชาพิจารณ์และ EHIA แต่ปล่อยนายทุนเดินหน้าโครงการ ไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พาชาวบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 14 ครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ระงับหรือเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงขอให้เยียวยาชาวบ้านรายละ 1 ล้าน 2 แสนบาทด้วย 

จากกรณีที่มีนายทุนเข้ากว้านซื้อที่ดินหลายพันไร่ในเขตพื้นที่ ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินที่เคยเช่าอยู่เดิมให้ออกไปจากพื้นที่ เพื่อปรับพื้นที่เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ รองรับ EEC โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์และไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA แต่อย่างใด

นายศรีสุวรรณ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของผู้เกี่ยวข้องละเมิดกฎหมายผังเมือง ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและขุดถมที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิม ทั้งผู้เช่าที่ดินทำกินและผู้มีโฉนดที่ดินข้างเคียง และยังละเมิดกฎหมายการเช่าที่นา ที่เจ้าของที่ต้องแจ้งยกเลิกสัญญากับผู้เช่าก่อนขายที่อย่างน้อย 6 ปี ที่สำคัญคือ มีการทำลายทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลคสรมีมาตรการรอวรับ ทั้ง การจัดสรรที่ให้ชาวบ้านทำกินและสร้างที่อยู่อาศัยด้วย

ขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อน ต่างกล่าวว่า ชาวบ้านผู้เช่าที่ดินไม่รู้ตัวมาก่อนว่า เจ้าของที่ขายที่ให้นายทุนเพราะไม่เคยแจ้งผู้เช่า มารู้ตัวอีกทีเมื่อมีการถมที่สูงราว 2 เมตรและปรับปรุงพื้นที่แล้ว โดยชาวบ้านหลายร้อยครอบครัวต่างเช่าที่ดินปลูกบ้าน, ทำนาและประมงมาหลายสิบปี บางรายจำยอมและได้ค่าชดเชยเพียงไม่กี่หมื่นบาท ไม่เพียงพอให้ตั้งต้นชีวิตใหม่ 

ส่วนราคาและระยะเวลาสัญญาเช่าต่างกันไป ตั้งแต่ ไร่ละ 3 พัน สัญญา ปีต่อถึง จนถึงแปลงละหมื่นบาท สัญญา 3 ปี จ่ายค่าเช่าทุกๆปี รายได้เฉลี่ยในการประกอบอาชีพในที่ดินเช่าไม่ต่ำกว่า ปีละ 2 แสนบาท โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่ติดลำน้ำบางปะกงเลียบยาวตลอดแนวถนนสายมอเตอร์เวย์ (สาย 7) กรุงเทพฯ-พัทยา ทางทิศใต้ ไปจนถึงพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งชาวบ้านได้เคยลงบันทึกประจำวันกับตำรวจในพื้นที่และยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรม ร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรามาแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาลปกครอง