ไม่พบผลการค้นหา
กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบเด็กไทยเป็นโรคดื้อต่อต้านเมินกฎระเบียบ ประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ มักพบในวัยเกิน 3 ขวบ หากพบผิดปกติขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจประเมิน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่นว่า กรมสุขภาพจิต ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2559 พบเด็กไทยอายุเกิน 3 ขวบ โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ( Oppositional Defiant Disorder ) มีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 เด็กหญิงร้อยละ 1.7 ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ แต่ยังเข้ารับบริการน้อย

โดยโรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุร่วมกันทั้งตัวเด็กเองที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และสภาพแวดล้อมเช่นความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง ที่น่าเป็นห่วงพบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา แต่ให้การดูแลตามความเชื่อ คือ ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง ไม่ขัดใจลูกเพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน หรือลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย และส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย ความเชื่อทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก ดังนั้นขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จ.ขอนแก่น กล่าวว่าลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อมี 8 อาการได้แก่ 1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา 2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ 3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อยๆ 4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ 5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ 6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย 7. โกรธและไม่พอใจบ่อย ๆ 8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท              

หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย   

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้น