ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai Macro Research ได้ออกบทวิจัยเรื่อง “Automation และการปรับตัวของมนุษย์เงินเดือนชาว Millennials” โดยมองว่า Automation หรือการนำเทคโนโลยีมาทำให้งานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานบางประเภท โดยเฉพาะงานรูทีน และจะมีผลต่อการเติบโตของรายได้และภาวะความเป็นอยู่ในอนาคต
โดยผลสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2561 พบว่าร้อยละ 50 ของบริษัทในกลุ่มตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วโลก คาดว่า Automation จะกระทบการจ้างงานแบบเต็มเวลาภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยต่างก็มีแผนจะนำ Automation มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น แม้ไม่มีการลดจำนวนพนักงานลงด้วยการเลิกจ้าง แต่ก็เตรียมปรับโครงสร้างองค์กร
ดร.พชรพจน์ ย้ำว่าการปรับตัวครั้งนี้สำคัญกับกลุ่มมิลเลนเนียลมาก เพราะเป็นกลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 2523 – 2540 ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานและต้องอยู่ในตลาดแรงงานในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการนำเทคโนโลยี Automation มาใช้อย่างแพร่หลาย
“หากชาว Millennials ยังทำงานรูทีนเหมือนเดิม อัตราการเติบโตของรายได้จะน้อยลงตามความต้องการทักษะดังกล่าวที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินออมในช่วงวัยทำงาน และสุดท้ายเงินออมสำหรับใช้ในช่วงหลังเกษียณอาจน้อยกว่าที่คาด ทำให้ต้องทบทวนว่าจะทำงานเดิมต่อไป หรือเรียนต่อ เพื่อเปลี่ยนมาทำงานในลักษณะที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์หรืองานเชิงบริหาร ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เป็นอัตโนมัติได้ยากกว่า” ดร.พชรพจน์ กล่าว
ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy เสริมว่า สำหรับชาวมิลเลนเนียล การเติบโตของรายได้ที่ลดลงร้อยละ 1 อาจต้องทดแทนด้วยการออมที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ของรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณเท่าเดิม ในบางกรณี หาก Automation ทำให้รายได้เราโตเท่าอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น อาจต้องออมถึงร้อยละ 35 ของรายได้ จากเดิมที่ออมเพียงร้อยละ 25 ของรายได้ แต่การออมมากขนาดนั้นก็ทำได้ไม่ง่ายนัก
ดังนั้น หากมนุษย์เงินเดือนชาวมิลเลนเนียลอยากจะอยู่รอดในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการปรับตัวและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Automation ที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตการทำงานในอนาคตอันใกล้นี้