เว็บไซต์แนววิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองเอเชีย-แปซิฟิค East Asia Forum ตีพิมพ์บทความของ Ryan Hartley จากมหาวิทยาลัยโตโฮกุในญี่ปุ่น ระบุว่า การปฏิรูปของรัฐบาลคณะรัฐประหารไทย ไม่สามารถหยุดยั้งเงินลงทุนไหลออกได้
ผู้เขียน ไรอัน ฮาร์ทลีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนโยบายการบัญชีประจำหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บอกว่า รัฐบาลทหารพยายามออกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ประเทศไทย 4.0, The Next Growth Phase ของกระทรวงการคลัง และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทว่าในสายตานักลงทุนชาวญี่ปุ่น แหล่งทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย นั้น แผนเหล่านี้อาจไม่เกิดมรรคผล
รัฐบาลทหารไทยตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรม 10 สาขา มุ่งยกระดับไทยให้พ้นสถานะประเทศรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2579 โดยอาศัยนวัตกรรมที่คนไทยคิดค้นเอง มีการออก ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี เสนอแรงจูงใจอย่างมากมายแก่กิจการไฮ-เทค เพิ่มมูลค่า และมีความสร้างสรรค์
ฮาร์ทลีย์ ย้อนดูข้อมูลการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย พบว่า ในอดีต ทุนญี่ปุ่นปักหลักในไทยอย่างแข็งแกร่ง มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42 ของเงินลงทุนทางตรง (เอฟดีไอ) ทั้งหมดในประเทศนี้ ช่วงปี 2528-2559 ญี่ปุ่นลงทุนในไทยรวม 2.9 ล้านล้านบาท นับว่าสูงกว่าสหรัฐฯ ผู้ลงทุนอันดับสองในไทย กว่าสองเท่าตัว
แต่เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 2559 รวมสองไตรมาสแรกของปี 2560 ร่วงลงจนถึงระดับเดียวกับเมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน ‘ต้มยำกุ้ง’
เมื่อปี 2556 ไทยได้รับเอฟดีไอสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 513,000 ล้านบาท ทว่าในไตรมาสที่สองของปี 2560 ตัวเลขนี้ทรุดลงมาอยู่ที่ 374,000 ล้านบาท
ต้นเหตุหลัก คือ ญี่ปุ่นระงับการลงทุนในไทย
เมื่อปี 2556 ญี่ปุ่นลงทุน 310,000 ล้านบาท ในปี 2560 ญี่ปุ่นลงทุน 125,000 ล้านบาท ปรากฏชัดว่า ในช่วงเวลาสองปีก่อนหน้าประกาศยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 7 ปี กับช่วงเวลาสองปีหลังประกาศยุทธศาสตร์ดังกล่าว ญี่ปุ่นลงทุนในไทยผิดกันอย่างมาก
ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่สร้างความตระหนกแก่นักลงทุนต่างชาติในไทย มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยระดับภูมิภาค
ในแง่ปัจจัยภายใน การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง การกลบปัญหาด้วยการโหมกระแส ‘จงรักภักดี’ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในหมู่ชนชั้นนำเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติไม่เคยเผชิญ
ขณะเดียวกัน ไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นประเด็นสร้างความวิตกแก่นักลงทุนญี่ปุ่นมากที่สุด นอกจากนี้ ไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ขณะประเทศข้างเคียงมีประชากรวัยทำงานในสัดส่วนสูง
ในแง่ปัจจัยภูมิภาค ทุนญี่ปุ่นมุ่งไปยังประเทศลุ่มน้ำโขง และประเทศที่เชื่อมกับเอเชียใต้อย่างเมียนมา
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเปิดเสรีประเทศลุ่มน้ำโขง พัฒนาระบบการผลิตที่เรียกว่า ดุมล้อกับซี่ล้อ โดยมีไทยเป็นเสมือนดุมล้อ ทว่าทุกวันนี้ อุตสาหรรมต้นน้ำและกลางน้ำสามารถย้ายไปทำนอกเหนือจากเมืองไทยได้แล้ว ญี่ปุ่นจึงลงทุนในไทยลดลง
ขณะเดียวกัน นับแต่ปี 2556 ญี่ปุ่นให้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการพัฒนา (โอดีเอ) แก่เมียนมาเป็นจำนวนมหาศาล ยอดปล่อยกู้พุ่งจาก 93 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2555 เป็น 5,300 ล้านดอลลาร์ฯในปี 2556 เมียนมาจึงกลายเป็นอีกประเทศในยุทธศาสตร์ ‘ไทยแลนด์ พลัส วัน” (ไทยกับอีกหนึ่งประเทศ) ของญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากประเทศลุ่มน้ำโขง
ฮาร์ทลีย์ บอกว่า เมียนมายังเชื่อมโยงกับเอเชียใต้ได้ด้วย ขณะเดียวกัน เมียนมาล็อบบีญี่ปุ่นอย่างหนัก ขอให้ลงทุนที่ย่างกุ้งแทนในกรุงเทพฯ
“ไทยไม่ใช่ตัวเลือกตัวเดียวสำหรับแหล่งลงทุนอันปลอดภัยของทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้อีกต่อไป” ผู้เขียนกล่าวสรุป
“เม็ดเงินลงทุนในไทยกำลังลดฮวบ เหตุหลักคือญี่ปุ่นลงทุนน้อยลงอย่างมาก การปฏิรูปของรัฐบาลคณะรัฐประหารไทย ดูจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์.”
Photo: AFP