ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร 'ปลาร้า' เลขที่ มกษ. 7023-2561 ลงในราชกิจจานุเบกษา วันนี้ (17 เม.ย.) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5, 15 และ 16 ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติและหลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะของอาหาร
ข้อความในประกาศฯ กำหนดว่าปลาร้า (Pla-ra หรือ fermented fish หรือ salt-fermented fish) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำปลาที่ขอดเกล็ด ควักไส้ (ยกเว้นปลาตัวเล็ก) มาหมักกับเกลือระยะหนึ่งแลัวเติมรำข้าว และ/หรือข้าวคั่ว-รำข้าวคั่ว และหมักต่อในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้า ก่อนบรรจุลงในภาชนะบรรจุ
ขณะที่มาตรฐานส่วนประกอบที่สำคัญของปลาร้า ต้องทำจากปลาชนิดที่ไม่มีพิษ ไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยทั่วไปทำจากปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาเบญจพรรณ หรือปลาทะเล เช่น ปลาจวด ปลาไล้กอ หรือปลาปากคม
เกลือที่ใช้ต้องเป็นเกลือสะอาด ไม่พบสิ่งแปลกปลอม ขณะที่รำข้าว รำข้าวคั่ว หรือข้าวคั่ว ต้องสะอาด ใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน ไม่มีแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น กรวด ทราย โดยลักษณะทั่วไปของปลาร้าจะต้องคลุกเคล้าเข้ากันพอดี ไม่แห้งหรือแฉะเกินไปเนื้อปลาต้องนุ่ม หนังไม่ฉีกขาด มีสีชมพูอ่อน เหลืองอ่อน ส้มอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน และต้องไม่มีกลิ่นคาว กลิ่นอับ กลิ่นเปรี้ยว กลิ่นหืน กลิ่นสาบ และกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
สิ่งสำคัญคือผลิตภัณฑ์ที่บรรจุลงภาชนะจะต้องไม่พบตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดและตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ ส่วนปลาชนิดอื่นที่ไม่ได้ระบุในฉลากจะต้องมีไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ ต้องไม่ใส่สารกันบูด และมีสารปนเปื้อนบางอย่างได้ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ ตะกั่ว ต้องไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารหนูในรูปอนินทรีย์ ไม่เกิน 2.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอท (สำหรับปลาทะเล) ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ภาชนะที่ใช้บรรจุและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องใหม่ สะอาด แห้ง ทนทานต่อการกัดกร่อน ปิดได้สนิท ป้องกันการปนเปื้อน และน้ำหนักสุทธิต้องไม่น้อยกว่าที่ระบุบนฉลาก
เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองที่มีการขยายตัวของการผลิตอย่างต่อเนื่อง จากระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็กไปเป็นขนาดกลางและใหญ่ที่ระดับการผลิตสูงถึง 40,000 ตันต่อปี และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โอท็อปที่สำคัญ มีมูลค่าตลาดในประเทศกว่า 800 ล้านบาท ส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศ มีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และทวีปอื่นๆ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่ รวมมูลค่าปีละกว่า 20 ล้านบาท จึงเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรฐานทั่วไปขึ้นมาใช้กำกับและควบคุมดูแลคุณภาพ เพื่อขยายตลาดปลาร้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ
ปัจจุบัน ปลาร้าเป็นสินค้าที่ไม่ควบคุมในการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าประเทศผู้นําเข้าต้องการการรับรองเกี่ยวกับเรื่องใด ผู้ส่งออกต้องไปขอใบรับรองก่อนการส่งออก
Photo by paul morris on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: