ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่ม 308-330 บาทต่อวัน เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ 0.4% ด้านแบงก์ชาติรอประเมินผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ พร้อมเผยผลสำรวจ พบมีลูกจ้างค่าแรงต่ำกว่าอัตราใหม่ 12%

ผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ที่เคาะออกมาในคืนวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ด้วยอัตรา 308-330 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน จากเมื่อปี 2560 มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ในช่วง 300-310 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 305.44 บาทต่อวัน โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 นี้ เป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันทั่วประเทศตามแต่ละพื้นที่ โดยจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ ต่างจากปีก่อนที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ เนื่องจากเพิ่มตัวแปร เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เข้ามาในสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่ 

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า จังหวัดที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่ 330 บาทต่อวัน เป็นจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการดึงดูดแรงงานที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมากยิ่งขึ้น ขณะที่จังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่น้อยที่สุด ที่ 308 บาทต่อวัน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนน้อย ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มไม่มาก แต่สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงาน ซึ่งน่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการเข้าไปลงทุน เพื่อสร้างงานให้คนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำปี 61 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ดันต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.4% 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคบริการที่มักพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ และจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหารและที่พักแรม รวมถึงธุรกิจผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนภาคเกษตรกรรม 

ขณะที่ ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือเป็นหลัก อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานกึ่งมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือไว้ท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ของต้นทุนทั้งหมด 

นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีทางเลือกค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ดังนั้น หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ 

ธปท.ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่มากไม่น้อยเกินไป

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 3.4% โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ ถือว่าเป็นขนาดการปรับเพิ่มที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่กระจายตัวมากนัก โดยจะส่งผลดีให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อการบริโภคในภาพรวม และช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 

โดยจากข้อมูลการสำรวจ พบว่ากลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ในปัจจุบันต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะประกาศใหม่มีอยู่ประมาณ 12% เมื่อประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อความสามารถของผู้ประกอบการที่จะแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งมีต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานรายได้ขั้นต่ำเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ

สำหรับผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อ ธปท. จะติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยของลูกจ้าง ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น และการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นการปรับในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสม เพราะได้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ปรับขึ้นค่าแรงในอัตราสูงในพื้นที่อีอีซี ซึ่งผู้ประกอบการมีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพจากแรงงานที่จ้างอย่างคุ้มค่า หรือในกรณีที่ปรับขึ้นค่าแรงไม่มากนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเพราะคำนึงถึงการประคองภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น

ระยะยาวแรงงานต้องเก่งขึ้น 

ขณะที่ อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะปรับขึ้นค่าแรง เพราะที่ผ่านมา ค่าครองชีพสูงขึ้นมากเรื่อยๆ แต่ค่าแรงยังแช่อยู่ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ เมื่อปรับค่าแรงแล้ว ฝีมือและทักษะแรงงานจะเก่งขึ้นหรือไม่ เมื่อพื้นฐานการปรับค่าแรงขั้นต่ำของปีนี้คือต้องการให้คนมีกำลังซื้อ ส่วนภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ อาจมีมาตรการภาษีช่วย ซึ่งอาจไม่ยั่งยืนนัก ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จึงคาดหวังว่า แรงงานจะมีการพัฒนาตัวเอง เพราะจากงานวิจัย พบว่า แรงงานไทยที่พัฒนาขึ้นมาก ยังช้ากว่าโลกธุรกิจ โลกเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาแรงงาน ซึ่งต้องได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถานศึกษาด้วย 

"แรงงานและนายจ้างเปรียบเป็นกรรไกร 2 ข้าง ที่ต้องช่วยกันตัดไปข้างหน้า ถ้าเกิดนายจ้างยอมขึ้นค่าแรงให้แล้ว แรงงานก็ต้องทำตัวเองให้เก่งขึ้น พร้อมกับทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมใหม่ด้วยว่า หลังจากนี้การแข่งขันจะรุนแรง เพราะเราไม่ได้แข่งแค่ในประเทศ แต่เราแข่งขันกับคนทั้งโลก และแข่งกับเทคโนโลยีด้วย" 

สำหรับการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แบ่งเป็น 7 ขั้น จากปีที่ผ่านมามี 4 ขั้น อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ให้ความเห็นว่า ดีที่สุดในข้อจำกัดนี้แล้ว เพราะหากต้องการได้สูตรที่ดีที่สุด ต้องแยกค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 77 จังหวัด และนโยบายที่ดีต้องบาลานซ์ระหว่างวิชาการและความรู้สึกวิถีความเป็นมนุษย์

"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ คาดว่าได้นำบทเรียนจากการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 300 บาทเมื่อปี 2556 มาใช้แล้ว เพราะตอนนั้น จังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำกระโดดขึ้น 40-60% มีกำลังซื้อในช่วงแรกหลังประก��ศใช้มาตรการดีดตัวขึ้นมาก แต่มาระยะหลัง กำลังซื้อเหมือนจะแช่แข็งไว้ ไม่ได้โตมากนัก เพราะผู้ประกอบการก็ไม่ลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ค่าแรงแพง แรงงานไม่มีฝีมือเช่นกัน รวมถึงมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูงด้วย" อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว