วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงในประเด็นการจัดสรรงบและดำเนินโครงการของกระทรวงฯ โดยระบุว่า ทุกปีที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ที่ทำมาทุกปี ได้จัดทำไปตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและรายได้ประมาณการที่ประเทศได้รับ และด้วยความจำเป็น ทำให้ปีนี้เราต้องทำงบประมาณขาดดุลเพื่อกู้เงินมาใช้ลงทุนพัฒนาประเทศ ดังที่เป็นมาทุกปี ภายใต้วงเงินมากกว่าปีที่ผ่านมาเพียง 8 หมื่นล้านบาท
ในภาพรวม งบประมาณกระจายงบแยกไปตามหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เหมือนปีที่ผ่านมา ตัวเลขของแต่ละกระทรวง หรือองค์กร ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่หากจะเปลี่ยนไปมากหรือหายไปเลยก็คงจะไม่ได้ เพราะแต่ละส่วนก็มีงบประจำ เงินเดือน และโครงการที่ต้องดำเนินการ
ชัยวุฒิ ระบุว่า หลังจากรับหลักการร่างงบฯ นี้แล้ว หากเห็นว่าบางโครงการไม่เหมาะสม หรืองบของบางหน่วยงานมากเกิน หรือน้อยเกินไป ก็สามารถแปรญัตติตัดงบได้
สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งงบไว้ 6.8 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565 หากจะเพิ่มให้มากขึ้นก็จะเกิดภาระเรื่องงบลงทุน ซึ่งจะทำให้งบประมาณขาดทุนมากขึ้นถือเป็นข้อจำกัดในเรื่องรายได้ของปีนี้ อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมของกระทรวงดิจิทัลที่สมาชิกฯ อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ แต่ตนคิดว่า จากงบประมาณที่ได้รับ ก็มีโครงการดีๆ หลายอย่างที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เข้มแข็งได้เช่นกัน เพราะในการทำงานจริงยังมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีรายได้จากการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อนำมาใช้ดำเนินการสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง กระจายความเจริญในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปทุกหมู่บ้าน
ภาคเอกชนหนุนโครงการนำสายไฟลงดิน
สำหรับอีกปัญหาที่ได้รับการพูดถึงกันมาก คือเรื่องของการนำสายเคเบิลหรือสายสื่อสารลงใต้ดิน ซึ่ง ชัยวุฒิ ยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีสายเคเบิลพาดบนเสาไฟฟ้าสะสมมาอย่างต่อเนื่อง มีประมาณการว่า 70 - 80% ของสายเคเบิลที่แขวนอยู่บนเสาไฟฟ้า เป็นสายที่ไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงทัศนียภาพ โดยรัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหานี้อยู่ด้วยโครงการนำสายสื่อสารลงดินในหลายพื้นที่ หรือการนำสายที่ไม่ได้ใช้ออกและดำเนินการจัดตั้งสายใหม่ไม่ให้รกรุงรัง
โครงการจัดระเบียบสายสื่อสารหรือการลงทุนทางอินเตอร์เน็ตต้องใช้เงินเยอะ แต่โชคดีว่าด้วยระบบที่วางเอาไว้ทั้งหมดที่ทำไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล แล้วไม่ได้อยู่ในงบประมาณ แต่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน
เสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์ บังคับใช้ PDPA
ด้านปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยแก๊งคอลเซนเตอร์ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สายด่วน 1212 รวมถึงการร้องเรียนทางออนไลน์ และประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อรับเรื่องแจ้งความทางออนไลน์
สำหรับกฎหมายล่าสุดที่เพิ่งบังคับใช้ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เพื่อการคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ซึ่งทุกวันนี้มีข้อมูลรั่วไหลออกไปเป็นจำนวนมาก เมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้จะเกิดระบบป้องกันที่มั่นคงปลอดภัย พร้อมทั้งมีโทษทางอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืน ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์มากยิ่งขึ้น แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ตนได้พยายามชี้แจงอยู่ หากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามได้