ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ ห่างเป้าที่นายกฯ หาเสียงไว้ แนะ 3 ข้อเสนอ แค่แสดงออกความไม่พอใจคงไม่เพียงพอ ควรเร่งพูดคุย คกก. ไตรภาคีเพื่อปรับค่าแรงอีกครั้ง

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวถึงมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราตั้งแต่วันละ 2-16 บาท คิดเป็นอัตราเฉลี่ยที่ 2.37% โดยบางจังหวัดปรับขึ้นเพียง 2 บาทหรือคิดเป็น 0.6% เท่านั้น ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 330-370 บาท ต่ำกว่าที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าไว้ที่ 400 บาท

สิทธิพลกล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 3 มิติ มิติที่ 1 ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่หาเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำ มีบทบาทสูงต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อย ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ย่อมส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 

ค่าแรงที่ปรับ ณ ขณะนี้ไม่สอดคล้องกับการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ โดยประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2565) อยู่ระหว่าง 28-54 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตเพียงปีละ 0.93%-1.8% เท่านั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ย่อมกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาค เพราะขาดหัวจักรสำคัญคือการจับจ่ายของภาคแรงงานซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ

มิติที่สอง ต่อมาตรฐานการดำรงชีพของแรงงาน อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 0.6%-4.5% สวนทางกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นหรือสินค้าพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ อย่างอาหาร เช่น จากข้อมูลราคาไข่หรือนมปีนี้ (ม.ค-พ.ย. 2566) ปรับเพิ่มขึ้นถึง 7.54% หรือผักสดที่สูงขึ้น 8.25% สินค้ากลุ่มนี้คือค่าใช้จ่ายหลักของพี่น้องแรงงาน จะเห็นว่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มในระดับสูงมาก

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องไม่ใช่เพื่อให้แรงงาน 1 คนอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ควรอยู่รอดได้อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคงเพียงพอทั้งต่อตัวแรงงานเองและครอบครัว นอกจากนี้ การสวนทางของค่าจ้างกับการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพหรือสินค้าจำเป็น คือสาเหตุสำคัญของหนี้นอกระบบ ที่สุดท้ายกระทบความมั่นคงของแรงงานในระยะยาว และรัฐต้องไปแก้ไขอยู่ดี

มิติที่สาม การขึ้นค่าแรงที่น้อยในรอบนี้ ยิ่งทำให้ห่างจากเป้าหมายของรัฐหรือที่ท่านนายกรัฐมนตรีหาเสียงไว้ คือค่าแรงทั่วประเทศ 600 บาทในปี 2570 ในอนาคต หากนายกฯ ยังยืนยันนโยบายขึ้นค่าแรงตามที่หาเสียง ย่อมต้องขึ้นค่าแรงแบบกระชากมากขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น

สิทธิพลกล่าวว่า ในกรณีนี้ ตนมีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ได้แก่ ข้อเสนอที่หนึ่ง ในฐานะนายกรัฐมนตรี การส่งสัญญาณว่าไม่พอใจต่ออัตราค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นคงไม่เพียงพอ ท่านนายกฯ ควรเร่งรัด พูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อให้สามารถปรับค่าแรงได้จริง

ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามที่ รมว.แรงงานชี้แจง ที่ระบุว่าในการพิจารณาปรับขึ้นของมติไตรภาคีนั้นต้องปฏิบัติตาม ILO (International Labour Organization) อยากเรียนท่านนายกฯ และ รมว.แรงงานว่า แนวคิดการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยในขณะนี้ยังตามแนวคิดสากลไม่ทันด้วยซ้ำ ปัจจุบันไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 131 ที่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ระบุให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความต้องการของแรงงานและครอบครัวควบคู่ ดังนั้นจึงอยากให้ท่านนายกฯ เน้นย้ำให้ไตรภาคีทบทวนอีกครั้งถึงประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นด้วย

ข้อเสนอที่สอง ผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อภาคธุรกิจ รัฐสามารถเตรียมนโยบายรองรับผลกระทบต่อ SMEs และภาคเอกชน เช่น การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล การพิจารณาประเด็นสมทบค่าประกันสังคมให้กับผู้ประกอบการ การช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนค่าแรงที่เพิ่มมาหักค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญอีกด้าน คือรัฐต้องออกนโยบายเยียวยาผลกระทบ เพื่อคลายความกังวลให้เอกชนไปพร้อมกัน

ข้อเสนอที่สาม การเพิ่มผลิตภาพและทักษะให้แรงงาน ในระยะยาวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของค่าแรงที่สูงขึ้น รัฐต้องมีนโยบายพัฒนาฝีมือให้แรงงานให้มากขึ้น พัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานไปพร้อมๆ กัน ผ่านมาตรการภาษีต่างๆ เช่น หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า

ดังนั้นในเชิงกลไกตลาดแรงงานไทย ยังรองรับแรงงานในประเทศได้เพิ่มอยู่ แต่กลไกตลาดอาจมีความบกพร่องของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความพร้อมของทักษะแรงงาน ดังนั้นรัฐควรมีนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานอย่างจริงจังและมุ่งเป้า ประกอบนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ.

“พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง และให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อดูแลสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงานไทย” สิทธิพลระบุ