ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงคมนาคม - รฟม. ส่งมอบความสุขเทศกาลปีใหม่ 2568 ขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร 4 สาย เดินทางข้ามปีถึงตี 2 และเปิดให้บริการที่จอดรถฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมแผนอำนวยความสะดวกปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการเดินขบวนรถไฟฟ้าให้เพียงพอและขยายระยะเวลาการให้บริการ ตลอดจนจัดเตรียมมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมในคืนเคานต์ดาวน์ตามสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ไอคอนสยาม วันแบ็งค็อก และเซ็นทรัลเวิลด์

ในการนี้กระทรวงคมนาคม และ รฟม. พร้อมด้วยผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้ามหานครทั้ง 4 สาย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) บริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู มีความตั้งใจจะส่งมอบขวัญในเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยขยายเวลาสิ้นสุดการให้บริการรถไฟฟ้า ในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เวลา 06:00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2568 เวลา 02:00 น. โดยรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายจะออกจากสถานีต้นทาง/ปลายทางในเวลา 02.00 น.

ทั้งนี้ รฟม. ได้ยกเว้นค่าบริการที่จอดรถและขยายเวลาให้บริการอาคารและลานจอดแล้วของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตั้งแต่เวลา 05:00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 01:00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2568 รวมถึงรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ตั้งแต่เวลา 05:00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ถึงเวลา 02:00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2568 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยนำรถส่วนบุคคลมาจอดและเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าภายใต้แนวคิด “I - SMART” พัฒนาโครงข่ายและบริการระบบขนส่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการเดินทาง และส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถนำรถมาจอดที่อาคารและลานจอดแล้วจรได้ ดังนี้

- รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ประกอบด้วย อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ที่สถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1

- รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ประกอบด้วย อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ที่สถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสถานีหลักสอง (2 อาคาร) และลานจอดแล้วจร 11 แห่ง ที่สถานีกำแพงเพชร สถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (2 ลาน) สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (2 ลาน) และสถานีสามย่าน

- รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีลานจอดแล้วจรในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ 1 แห่ง ที่สถานีเคหะฯ และอาคารจอดแล้วจรในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต 2 แห่ง ที่สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต

- รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง อาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ที่สถานีศรีเอี่ยม

- รถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู อาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ที่สถานีมีนบุรี

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสาย จัดเตรียมมาตรการต่าง ๆ ในระบบรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยจัดเตรียมขบวนรถเสริมให้เพียงพอต่อการให้บริการกรณีที่มีผู้โดยสารหนาแน่นในระบบรถไฟฟ้าและไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง การเน้นย้ำประชาสัมพันธ์เวลาเปิด - ปิดให้บริการรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายให้ผู้โดยสารทราบอย่างทั่วถึง การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่สถานีให้พร้อมปฏิบัติงานและจัดเตรียมช่องทางพิเศษสําหรับจําหน่ายเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร ในสถานีที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้แก่ สถานีลุมพินี สถานีสุขุมวิท สถานีสวนจตุจักร และสถานีบางซื่อ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีบางซ่อน สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีสะพานพระนั่งเกล้า และสถานีตลาดบางใหญ่ รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้แก่ สถานีลาดพร้าว สถานีสวนหลวง ร.9 และสถานีสําโรง รถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นต้น การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์การใช้ระบบรถไฟฟ้าอย่างปลอดภัย รวมถึงเตรียมแผนการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดวางอัตรากำลังพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานกู้ภัย พนักงานรักษาเขตทาง พนักงานพิสูจน์ทราบ (EOD) พนักงานผู้บังคับสุนัข (K-9) และเจ้าหน้าที่ตํารวจพร้อมสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิดจากกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่พิสูจน์ทราบวัตถุต้องสงสัยร่วมกับแผนกพิสูจน์ทราบ (EOD) รฟม. โดยเพิ่มความเข้มงวดและความถี่ในการตรวจตรา เฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า อาคารและลานจอดแล้วจร รวมถึงมีการจัดพนักงานสื่อสารประจําศูนย์วิทยุพสุธาตรวจตราทาง CCTV และรับแจ้งเหตุผิดปกติทางหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร. 0 2938 3666 หรือ 08 9925 1705 ตลอด 24 ชั่วโมง