นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคมะเร็งของไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2565 พบว่า หญิงไทย พบ เป็นมะเร็งเต้านม มากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย
สำหรับโรคมะเร็งเต้านมส่วนมาก พบในหญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี จำนวน 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี จำนวน 5,177 ราย แสดงให้เห็นว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกของการเป็นมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็น เมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบ และลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก
นพ.สุวรรณชัย กล่าวไปต่อว่า กลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านม ที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี หรือเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี และผู้หญิงที่สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 15 - 49 ปี ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 10 กิโลกรัม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในขณะที่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม
กรมอนามัยจึงแนะนำให้หญิงไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มฝึกทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่นๆ
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือน สามารถดูด้วยตา คลำด้วยมือ การคลำมี 3 วิธี จะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าครอบคลุมเนื้อเต้านมทั้งหมด ทั้งขอบด้านล่างเสื้อชั้นใน บริเวณหัวนม บริเวณใต้รักแร้ และไหปลาร้า อย่ายกนิ้วขึ้นจากเต้านมขณะคลำ
โดยวิธีที่ 1) การคลำในแนวขึ้นลง จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าจนถึงด้านล่างของทรวงอก โดยคลำจากใต้รักแร้ หรือตำแหน่งใต้แขนจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม
2) การคลำแบบแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า
และ 3) การคลำแบบแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด อย่างนี้เรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า
นอกจากนี้ ควรคลำเต้านมโดยใช้ 3 นิ้ว 3 สัมผัส (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) และกด 3 ระดับ ดังนี้ กดเบา ให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานปลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางเนื้อนม และกดหนักให้รู้สึกถึงเนื้อนมใกล้กระดูกอก เมื่อคลำพบก้อนที่โตระยะขนาด 2 - 5 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตมีถึง ร้อยละ 75 – 90 แต่หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการรอดมีเพียงร้อยละ 15 - 30 เท่านั้น