"ถึงผู้คนในฟลอริดา ค่ำคืนนี้จะเป็นคืนที่เกย์สุดๆ ไปเลย เกย์ เกย์ เกย์ เกย์ เกย์.."
แวนดา ไซก์ส หนึ่งในพิธีกรของงานประกาศรางวัลออสการ์กล่าวบนเวทีในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำเอาหลายคนทั้งทึ่งและขำปนพึงพอใจไปตามๆ กัน เธอได้รับเสียงเสียงดังกึกก้องดอลบีเธียร์เตอร์สถานที่จัดงาน ขณะที่พิธีกรร่วมอีก 2 คนอย่าง เอมี ชูเมอร์ และเรจีนา ฮอลล์ ก็สมทบด้วยการพูดว่า "เกย์ เกย์ เกย์ เกย์ เกย์.." ส่งท้ายอีกด้วย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลของมลรัฐฟลอริดากำลังผลักดัน
นี่คือเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นของการที่คนดังในสหรัฐฯ รวมถึงผู้คนทั่วไป ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ ไปจนถึงบอร์ดบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แถวหน้าของสหรัฐฯ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารย์และแสดงการต่อต้านกฎหมายที่หลายคนมองว่าเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQAI+ อยู่ในขณะนี้ ขณะที่นักเรียนจำนวนมากก็ได้ไปประท้วงที่รัฐสภาของฟลอริดา พร้อมตระโกนประสานเสียง "We say gay! We say gay! We say gay!"
กฎหมาย 'สิทธิผู้ปกครองในการศึกษา' หรือที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยเรียกกันว่า "กฎหมายห้ามพูดว่าเกย์" (Don't Say Gay bill) ผ่านการลงมติเห็นชอบจาก ส.ส.ฟลอริดาในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนจะผ่านการลงมติอนุมัติโดย ส.ว.ของฟลอริดาในวันที่ 9 มี.ค. และรอการลงนามโดย รอน เดอซานทิส จากพรรครีพับลิกัน
กฎหมายนี้มีจุดประสงค์สำคัญในการสั่งห้ามไม่ให้มีการสอนและการพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับทั้ง 'เพศวิถี' และ 'อัตลักษณ์ทางเพศ' สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลไปจนถึง ป.3
ความสับสนยังคงมีอยู่และสร้างบทสนทนามากมายว่าแท้จริงแล้วกฎหมายนี้ต้องการสั่งแบนอะไรกันแน่เพราะยังมีความคลุมเครืออยู่มาก และสุดท้ายแล้วการพูดคุยเรื่อง LGBTQ ในห้องเรียนยังทำได้หรือไม่ในมลรัฐฟลอริดา
NBC รายงานอ้างอิงคำอธิบายของผู้สนับสนุนกฎหมายซึ่งชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีการสั่งห้ามนักเรียนพูดคุยในประเด็นครอบครัวที่เป็น LGBTQ หรือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ ไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุกราดยิงอย่างรุนแรงในไนท์คลับ PULSE ในปี 2559 ที่ออร์แลนโดจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย แต่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการสอนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีแทน
อย่างไรก็ตาม ตัวบทกฎหมายกล่าวอย่างชัดเจนว่าจะแบนทั้งหมด โดยระบุว่า "การสอนในห้องเรียนเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี โดยเจ้าบุคลากรของโรงเรียนหรือบุคคลที่สาม ไม่สามารถทำได้"
เคลย์ คัลเวิร์ต ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้เชี่ยวชาญด้าน 'เสรีภาพในการพูด' ชี้ว่าเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทำไมผู้คนจึงสับสนอย่างมากกับเนื้อหาของกฎหมายนี้ และทำไมจึงไม่ตัดคำว่า 'พูดคุยอภิปราย' ออกไปเลย พร้อมชี้ว่ากฎหมายนี้อาจไม่มีผลในชีวิตจริงด้วยซ้ำ
ผลกระทบของแนวทางการออกกฎหมายเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลต่อจิตใจของคนทั้งสังคม ทั้งในฟลอริดาและในระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็น LGBTQ และโดยเฉพาะตัวเด็กๆ กลุ่มนี้เอง ที่ปกติต้องต่อสู้กับแรงกดดัน การกลั่นแกล้ง และการเลือกปฏิบัติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แม้สหรัฐฯ จะดูเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสรีภาพเรื่องความหลากหลายกว่าหลายประเทศก็ตาม
The Guardian รายงานว่า นักจิตวิทยาด้านกุมารเวชศาสตร์มีความกังวลอย่างมากว่ากฎหมายฉบับนี้จะกำลังทำลายสภาพจิตใจของเยาวชนและผู้คนในสังคม
"กฎหมายนี้คือการ 'ตีตรา' การเป็นเกย์และคนข้ามเพศ มันสามารถทำร้ายสุขภาพจิตของเยาวชนที่เป็น LGBTQ ผู้ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ชอบเพศตรงข้ามในการถูกรังแกและการคิดฆ่าตัวตาย"
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ ข้อมูลสถิติของ CDC สหรัฐฯ ว่าด้วยการจับตาพฤติกรรมความเสี่ยงของเยาวชนที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ว่า 27% ของเยาวชนที่เป็นคนข้ามเพศเคยพยายามฆ่าตัวตาย เทียบกับกลุ่มเยาวชนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศโดยกำเนิดที่เคยพยายามฆ่าตัวตายที่ 7%
ขณะเดียวกัน 21% ของเยาวชนที่เป็นเกย์และเลสเบียนเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 22% ของเยาวชนที่เป็นไบเซ็กชวลเคยพยายามฆ่าตัวตาย ขณะที่เยาวชนที่เป็นเพศตรง หรือสเตรท นั้นเคยพยายามฆ่าตัวตายราว 7%