ตามข้อมูลจาก กรมราชฑัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ระหว่างปี 2560-2562 อดีตนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจำนวน 15% ต้องเดินกลับเข้าสู่วงเวียนเรือนจำอีกครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 ปี หลังการปล่อยตัว ด้วยข้อหาการกระทำผิดซ้ำเดิม
สถิติดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเลือกเดินทางผิดซ้ำสอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าแรงจูงใจอาจมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ สภาพเศรษฐกิจภายนอกที่เลวร้ายเกินจะอ้าแขนรับผู้หวนคืน หรือแท้จริงแล้วสังคมที่ปากบอกว่าพร้อมให้โอกาสอดีตผู้ต้องขัง "ไม่มีจริง"
'วอยซ์ออนไลน์' เข้าพูดคุยกับหญิงผู้เคยต้องโทษในคดีที่แตกต่างกัน 2 ราย ก่อนพบความเชื่อมโยงจากคำตอบของพวกเธอว่า เมื่อกลับคืนเข้ามาสู่สังคมใหญ่อีกครั้ง วาทกรรมที่คนภายนอกเคยพูดว่าพร้อมหยิบยื่นโอกาสให้กับ 'คนมีประวัติ' เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูทางการตลาดภาพลักษณ์เท่านั้น
'มิ๊ก' แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสาม เล่าให้ฟังว่า ตลอดเวลา 16 เดือนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ฐานยักยอกทรัพย์ เธอใช้เวลาแทบทั้งหมดเตรียมพร้อมตัวเองทั้งด้านทักษะความรู้ที่กรมราชฑัณฑ์จัดหาให้ รวมถึงช่องทางในการกลับไปทำมาหากิน หลังต้องปล่อยมือให้ลูกสาวคนโตขึ้นมารับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนตนเอง
หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในจังหวัดพิษณุโลก 'มิ๊ก' กล่าวว่า การสมัครงานเป็นเรื่องยากที่สุด เนื่องจากไม่ว่าเธอจะเป็นซื่อสัตย์ จริงใจ และตอบคำถามตรงไปตรงมาว่าเป็นคนมีประวัติ หรือเลือกโกหกจนบริษัทไปพบความจริงภายหลัง เธอล้วนได้รับการปฏิเสธจากทุกที่
โอกาสในหน้าที่การงานที่ยังพอมีบ้างในคำอธิบายของ 'มิ๊ก' จะกระจุกตัวอยู่ตามบริษัททำความสะอาดเล็กๆ หรือการทำงานกับร้านค้าทั่วไปเท่านั้น สถานการณ์ทั้งหมดกดดันให้แม่ผู้หลงผิดรายนี้ต้องนำทุนที่พอมีเก็บไว้บ้างมาเปิดร้านขายอาหารตามตลาดนัด ก่อนหมดตัวอีกครั้ง เพราะร้านค้าดังกล่าวไปไม่รอด
"พอหางานไม่ได้ก็ลองทำอาชีพด้วยตัวเอง ลงทุนขายข้าวแกง บางวันฝนตก ลงทุนไป 2,000 กว่าบาท ขายตลาดนัด จบ เจ๊ง ทุนหาย เหนื่อยค่ะ"
ประเด็นอ่อนไหวที่สุดสำคัญ 'มิ๊ก' คือ การเคยเป็นคนมีรายได้ 3-4 หมื่นบาท ในสมัยที่เคยเป็นพนักงานขายของบริษัทเอกชน แต่เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมอีกครั้ง ประวัติความผิดพลาดนอกจากจะทำให้เธอเจอความยากลำบากในการสมัครงานตำแหน่งงานตามความสามารถที่เธอมี เธอยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการมีรายได้วันละ 300 บาท กับคำชวนจากเพื่อนที่รู้จักกันในเรือนจำให้เดินเข้าสู่วงการยาเสพติดซึ่งมีรายได้สูงกว่ามาก
'มิ๊ก' ชี้ว่า ความบีบคั้นดังกล่าวมันมาในรูปแบบที่ได้รับการส่งเสริมจากสังคมทางอ้อม คือเมื่อสังคมไม่ยอมรับและเปิดโอกาสให้ผู้มีประวัติกลับเข้าสู่อาชีพการงานตามศักยภาพที่มีหรือไม่แม้แต่จะหยิบยื่นงานธรรมดาให้ อดีตผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งซึ่งต้องมีรายจ่ายประจำวันและมีภาระที่ต้องรับผิดชอบจึงมองว่าการหันไปเป็นเด็กส่งยา "แป๊บนึงได้แล้ว 600 บาท" เป็นเพียงถนสายเดียวที่มีให้เดิน
"อยากจะบอกสำหรับบริษัท ห้างร้านใหญ่ๆ ที่เคยพูดไว้สนับสนุนกิจการต่างๆ อยากให้เขาให้โอกาสจริงๆ บางคนเคยทำผิดมาแล้ว แต่ก็อยากแก้ตัวใหม่ อยากเริ่มใหม่ แต่ถ้าคุณไม่มีที่ให้เราเริ่ม เราก็ต้องกลับไปอยู่ในมุมมืดเหมือนเดิมอีก"
ด้าน 'ฝน' หญิงสาวที่เดินเข้าสู่วังวนขายยาเสพติดในฐานะผู้ใช้ ย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งความสับสนว่าตัวเธอมองไม่ออกด้วยซ้ำว่าชีวิตจะใช้อย่างไรต่อไป จะเริ่มอย่างไรในเมื่อสังคมภายนอกมองคุณค่าของความเป็นคนไม่เท่ากันเมื่อบุคคลหนึ่งๆ เคยก้าวพลาดในชีวิต
ไม่เพียงแต่ตัวเธอต้องแบกรับบาดแผลในจิตใจจากการกรทำของตัวเอง เมื่อกลับไปบ้านเกิดเธอยังต้องแบกรับความกดดันจากสังคมแวดล้อมที่ "ดูถูก" ตลอดเวลา ไปจนถึงภาวะถูกเหยีบยย่ำทุกครั้งที่ยื่นใบสมัครหรือสัมภาษณ์งาน
"เรากลับไปอยู่ที่บ้านก็เจอคำดูถูก ไปสมัครงานเราก็ต้องมานั่งกังวลว่า เรามีประวัติเรื่องเกี่ยวกับการใช้ยา เขาจะรับเราไหม คือถ้ามีประวัติมันก็ยากอยู่แล้วในการทำงาน ก็เลยไม่รู้จะต้องทำยังไง จะต้องเริ่มยังไง คือความแบ่งแยกมันชัด เธอเป็นแบบนี้ สิทธิเธอน้อยกว่าคนปกติแน่นอน"
'ฝน' ตั้งคำถามกับสังคมว่า ถ้าหากคนที่เคยทำผิดอยากกลับตัวเป็นคนดี อยากมีงานทำที่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ตามกฎหมายและพร้อมที่จะปรับปรุงตัวทุกอย่าง แต่สังคมกับเต็มไปด้วยเงื่อนไขของอดีตที่นำมาผูกพัน ไม่ตั้งอยู่บนความสามารถ ความตั้งใจ และเจตนา อย่างนี้จะถือว่าสังคมเป็นผู้ผลักคนเหล่านี้กลับไปสู่ 'มุมมืด' หรือไม่
"น้องมีประวัติเรารับไม่ได้จริงๆ แล้วต้องทำยังไงกลับไปขายยาเหมือนเดิมหรอ" ฝน ชี้
'พูลชัย จิตอนันตวิทยา' ประธานฝ่ายการแพทย์ วิสาหกิจสุขภาพชุมชน และผู้ริเริ่มโครงการ SHE (ชี) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่สุดในการเยียวยาอดีตผู้ต้องขังหญิงให้กลับมามีชีวิตได้อย่างยั่งยืนของภาครัฐคือ ทุกโครงการที่เข้าไปฝึกอาชีพเน้นทักษะเพียงระยะสั้น ทั้งยังไม่มีการติดตามช่วยเหลือให้คนเหล่านี้เข้าถึงอาชีพการงานอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ SHE จึงเกิดขึ้น บนฐานการคิดอย่างเป็นระบบว่า จะปรับความรู้ของตัวเองในการกดจุดแก้อาการออฟฟิศซินโดรมของคนยุคใหม่มาเป็นธีมสำคัญเนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขนาดใหญ่ ก่อนติดต่อร่วมงานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อนำชุดความรู้ดังกล่าวไปฝึกให้กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำเพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเธอ เมื่อพ้นโทษจะได้มีทักษะติดตัวและพร้อมทำงานทันที
แทนที่จะปล่อยให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวเหล่านั้นมีแต่ทักษะติดตัว 'พูลชัย' ตัดสินใจสร้างสถานประกอบการขึ้นมารองรับและดูแลค่าใช้จ่ายทั้งด้านที่พักและค่าเดินทางทั้งหมด เพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเธอจะมี 'นายจ้าง' ที่พร้อมจ้างงานอย่างแน่นอน พร้อมยังเดินสายสร้างความรู้จักให้กับกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถานประกอบการดังกล่าวสามารถมีรายได้เลี้ยงทุกคนได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ เมื่อมองต่อไปในอนาคต 'พูลชัย' กล่าวว่า เขาไม่เพียงต้องการสร้างทางเลือกในการมีงานทำให้กับอดีตผู้ต้องขังผ่านการเป็นผู้กดจุดเท่านั้น แต่ต้องการเข้าไปเปลี่ยนระบบตั้งแต่ต้น โดยหวังผลักดันให้เกิด 'เรือนจำเอกชน' ที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทั้งตัวผู้ต้องขังและคนภายนอก
พร้อมกันนี้ ผู้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือซึ่งปัจจุบันขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มเยาวชนและหญิงชาวมุสลิมที่ขาดโอกาสทางการทำงานไม่ต่างกัน ยังหวังผลักดันให้เกิด 'social enterprise' หรือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะเป็นการเยียวยาเหล่าอดีตผู้ต้องขังหญิงอย่างเป็นระบบที่แท้จริง โดยผลักดันให้บริษัทเอกชนเข้ามาใช้บริการต่างๆ ที่กิจการเพื่อสังคมมีบริการ โดยนอกจากจะได้บริการที่ต้องการ เงินค่าจ้างเหล่านั้นยังสามารถไปลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก
หลังธุรกิจส่วนตัวต้องปิดไป 'มิ๊ก' ชี้ว่า เธอตัดสินใจโทรกลับไปหา 'พูลชัย' ซึ่งเคยเข้าไปฝึกอาชีพให้กับตนเอง โดยปัจจุบัน เธอชี้ว่า "ณ ตอนนี้สามารถดูแลครอบครัวได้ เช้ามาทำงาน ที่นี่มีให้พร้อม คุณประหยัดค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ทุกอย่าง เวลาไปทำงานบริษัทก็ไปส่ง อาชีพนี้อาจไม่สามารถไปสร้างธุรกิจได้ แต่สามารถเก็บเป็นต้นทุนให้เราไปต่อยอดในความฝันได้"
ขณะที่ 'ฝน' เสริมว่า หน้าที่การงานในปัจจุบันก็มีทางให้เดินต่อขึ้นไปนอกจากการเป็นผู้ให้บริการกดจุดเท่านั้น พวกเธอยังสามารถพัฒนาศักยภาพและขึ้นมาเป็นผู้สอนให้คนรุ่นต่อๆ ไป เนื่องจาก "คุณหมอเขาดันให้เราเป็นครูฝึกด้วยเพราะว่าคุณหมอเขาก็มีโครงการให้เราไปให้โอกาสกับคนอื่น เหมือนที่เราเคยได้รับ"
ในบทความ 'ผู้หญิงในคุก ชีวิตคนหรือสูตรสมการ?' จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ชี้ว่า ผู้หญิงหลายคนที่ต้องมาลงเอยในเรือนจำแท้จริงแล้วตกอยู่ในสถานะเหยื่อของ 'ความจำ' และ 'ความเหลื่อมล้ำ' จากโครงสร้างทางสังคมที่ "ไม่ปรานีผู้หญิงและคนยากคนจน"
รายงานชี้ว่า ผู้หญิงจำนวนมากเป็นคนยากจน จึงจำเป็นต้องใช้การขโมยสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เมื่อประทังชีวิตหรือนำมาจุนเจือครอบครัว เพราะทางเลือกในการหางานทำอื่นๆ มีจำกัด อาทิ ประเด็นการเข้าไม่ถึงการศึกษา ขณะที่ปัญหาด้านยาเสพติดที่ส่งผู้หญิงจำนวนมากเข้าไปนอนคุกเพราะหลายคนเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมาก่อน จิตใจบอบช้ำจนต้องหันมาใช้ยาเสพติด
ในรายงานอีกฉบับซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2561 พบว่า จากการสำรวจผู้ต้องขังทั้งหมด 2,499 คน จาก 10 เขตราชทัณฑ์ทั่วประเทศ เทียบกับตัวเลขผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด 48,136 คนในปีดังกล่าว มีผู้ต้องขังกว่า 38.5% ที่มีรายได้ระหว่าง 5,001 - 10,000 บาท ขณะที่อีก 21.2% มีรายได้ระหว่าง 10,001 - 15,000 บาท โดยมีความผิดหลักมาจากคดีความที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นหลัก ตามมาด้วยความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
รายงานยังกล่าวว่าเกือบทั้งหมด (98.9%) ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวก่อนเข้ามาอยู่ในเรือนจำ โดยมีถึง 28% ที่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวมากกว่า 5 คน ผลสำรวจยังพบว่า 60% ของผู้ต้องขังที่ตอบแบบสอบถามเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว
ข้อมูลข้างต้นแสดงอย่างชัดเจนว่า สภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมซึ่งรัฐบาลสามารถเข้าไปพัฒนาได้ คือปัจจัยหลักที่บีบคั้นให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องเลือกเดินบนถนนที่ไม่ถูกกฎหมาย ขณะที่ทางออกซึ่งปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานด้วยการจับเข้าคุกก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากจะทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะนักโทษล้นคุก ก็ยังทำให้นักโทษเหล่านั้นต้องกลายเป็นคนมีประวัติที่สังคม ณ ปัจจุบันยังไม่ยอมรับอย่างแท้จริง
ผู้ทำผิดสมควรได้รับโทษเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การแก้ปัญหาเพื่อกันไม่ให้เกิดการทำผิดเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล อีกทั้งกระบวนการช่วยเหลือผู้ก้าวพลาดยังต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่จะหวังให้เพียงคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเท่านั้น