นายไพฑูรย์ สร้อยสด โฆษกสมัชชาคนจน กล่าวว่า สมัชชาปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 6-22 ตุลาคม รวม 16 วัน มีรัฐมนตรีและตัวแทนจากหลายกระทรวงเจรจา ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน หลายข้อเรียกร้องเห็นกรอบแนวทางที่จะแก้ไขปัญหา แต่บางส่วนยังไม่เห็นความคืบหน้า
เช่น ปัญหาที่ดินในเขตป่าสาธารณะ แม้นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจะรับหน้าที่ไปลงพื้นที่ไปสำรวจข้อเท็จจริงหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่กระบวนการทุกอย่างก็เหมือนย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ เมื่อปี 2545 หรืออย่างเรื่องเขื่อนป่กมูลมีความคืบหน้าตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายชื่อ เขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนท่าแซะจะมีการตั้งคณะกรรมการไปพิจารณาแนวทางยกเลิก ซึ่งหลายกรณีมีความคืบหน้าราว 20% แต่ไม่เห็นแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
ประเด็นที่ดูเหมือนจะมีความคืบหน้าน้อยที่สุดตอนนี้คือ กรณีปัญหาที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งรัฐบาลพยายามใช้แนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แต่ชาวบ้านมองว่านโยบายของคณะกรรมการชุดนี้มีปัญหา ที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ไหนประสบความสำเร็จ จึงเสนอให้ใช้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ 2511 แทนเพื่อจัดสรรในรูปแบบนิคมสหกรณ์ ซึ่งประเด็นนี้ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีไปก่อนการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา แต่วันที่มีการชุมนุมรัฐมนตรียังไม่ทราบรายละเอียด อีกทั้งการสื่อสารระหว่างหน่วยงานราชการกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ก็ผิดพลาดไม่ตรงตามที่สมัชชาเรียกร้อง
ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็พยายามบีบให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ้าน ซึ่งทางสมัชชายืนยันว่าจะปักหลักจนกว่าข้อเสนอจะได้รับข้อยุติในเบื้องต้น ได้เห็นแนวทาง และกรอบการแก้ไขปัญหาว่าขั้นตอนหลังจากนี้เป็นอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องมีมติคณะรัฐมนตรีผ่อนผัน ให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ตามปกติระหว่างที่หาแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งห้ามจับกุมหรือดำเนินคดีกับกลุ่มข้อชุมนุม เพราะเมื่อวานที่ผ่านมาเจ้าหน้าทที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่แกนนำมีการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตชุมนุมแล้ว และเป็นการชุมนุมโดยสันติตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีความรุนแรง การใช้อาวุธ และไม่มีอบายมุข
เพราะสมัชชารู้ดีว่าถ้าใช้ความรุนแรงปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังมีการแจ้งแกนนำมาว่าหากไม่ถอยการชุมนุมจะมีการแจ้งหมายเรียกแกนนำเพิ่ม อย่างไรก็ตามยังมีเจ้าหน้าที่สันติบาล และ กอ.รมน. ติดตามญาติของแกนนำที่ต่างจังหวัดเพื่อกดดันให้โทรตามแกนนำยกเลิกการชุมนุมและกลับบ้าน หรือเหตุการณ์เมื่อวานนี้ มีชายแต่งชุดคล้ายเจ้าหน้าที่ ไปที่บ้านแกนนำ บริเวณอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อถามหาแกนนำจากภรรยาและลูกโดยพกปืนและเอามือตบไปที่กระบอกปืนที่พกอยู่ข้างเอว ซึ่งตนมองว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และกดขี่เสรีภาพของประชาชน
ขณะเดียวกันในเวลา 11:00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนเดินทางมายังประตู4 ทำเนียบรัฐบาล โดยนำพวงหรีด ที่พิมพ์ตัวอักษรว่า "อาลัยแด่ สปน." ซึ่งผลพวงมาจากความล่าช้าในการทำงาน ส่วนการชุมนุม ของกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ตำรวจจากนครบาลมาดูแลความสงบเรียบร้อยจำนวน 1 กองร้อย ตลอดการชุมนุม
สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้สมัชชาคนจนเรียกร้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา 37 กรณี อาทิ
1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
1.1 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ
1.2 กรณีปัญหาปัญหาที่ราชพัสดุหนองน้ำขุ่น อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
1.3 กรณีปัญหาผู้เดือดร้อนจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน อำเภอปากน้ำโพ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์
1.4 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองกุง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
1.5 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
1.6 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์กุดทิง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
1.7 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์บะหนองหล่ม ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
1.8 กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองเหล็ก ตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
1.9 กรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
1.10 กรณีปัญหาการเตรียมประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ในที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ
2.1 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่สร้างแล้ว หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร
2) กรณีปัญหาเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
3) กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี
4) กรณีปัญหาเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และจ.สุรินทร์
5) กรณีปัญหาเขื่อนหัวนา จ. ศรีสะเกษ
2.2 แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเขื่อนที่ยังไม่สร้าง ประกอบด้วย
1) กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จังหวัดชุมพร
2) กรณีปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่
3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ
3.1 โครงการอุตสาหกรรมบางสะพาน จ.ประจวบคิรีขันธ์
3.2 กรณีปัญหาการเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) – ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร
4.1 กรณีปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำของเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคิรีขันธ์
5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน
5.1 ปัญหานายจ้างใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย
5.2 กรณีปัญหาการเลิกจ้างแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย จำนวน 9 คน ตามคำพิพากษาศาลฎีกา
5.3 ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท มิกาซ่า อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
5.4 ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงาน บริษัท ไทยหัวเวย แบตเตอรี่ จำกัด สูงกว่าค่าที่กำหนด
5.5 กรณีบริษัท ไอพีบี จำกัด และบริษัท ไทยโควะพรีซีชั่น จำกัด ร่วมกันชดใช่ค่าเสียหายจากการละเมิด และจากการเลิกจ้าง นางสาววิศัลย์ศยา พุ่มเพชรสา ต้องได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานลูกกลิ้งเฉือนนิ้วกลางข้างขวาข้อที่สองเกือบขาดต้องหยุดพักรักษานานกว่า 20 วัน และนิ้วไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
5.6 กรณีปัญหาปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
1) กรณีบริษัทซี.ที. ปิโตรแอนด์ทรานส์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน
2) กรณีบริษัท พี ดับบลิวเค จิวเวลลี่ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 653 คน
3) กรณีบริษัทโกบอล เซอร์กิต อีเลคทรอนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 145 คน