ไม่พบผลการค้นหา
“ส.ส.ก้าวไกล” รับ ราชทัณฑ์กังวล ห่วงสุขภาพ “เพนกวิน” วอนศาลทบทวนปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎร หวั่นกระบวนการบังคับให้รับสารภาพ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่เดินทางไปเรือนจำเพื่อตรวจสอบความเป็นอยู่ของแกนนำกลุ่มราษฎร ว่า ได้ไปเจอ 'ไผ่ ดาวดิน' เพียงคนเดียว เบื้องต้นสอบถามความเป็นอยู่ โดยภาพรวมซึ่งพบว่าการดูแลของราชทัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐาน ตามที่ปฏิบัติกับทุกคนในลักษณะเดียวกันต่างกันตรงที่จะพาไปตรวจโควิด-19 ในช่วงค่ำ ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมราชทัณฑ์บอกว่าจะไม่มีแล้ว เพราะศาลมีคำวินิจฉัยว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิซึ่งเรือนจำจะปรับปรุงต่อไป ส่วน 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' ได้เห็นห่างๆ คุยทางคอนเฟอเร้นท์ 1 นาที ก่อนไฟดับ


ยิ่งกักขังยิ่งบีบบังคับ

รังสิมันต์ โรม ยอมรับว่ากรมราชทัณฑ์กังวลเรื่องสุขภาพร่างกายของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวินที่อ่อนแอ แต่ก็พยายามดูแลอย่างดี ทั้งนี้ส่วนตัวอยากฝากบอกทุกคนว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกักขังกลุ่มคนเหล่านี้ ศาลสามารถให้ประกันตัวได้เพราะการปล่อยตัวไม่ได้หลายความว่าคนเหล่านี้จะพ้นผิดจากคดี ข้อกล่าวหากระบวนการพิจารณายังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และที่ผ่านมา คนที่ถูกคดีทางการเมืองน้อยคนที่จะหลบหนี หรือลี้ภัย 

“ผมเกรงว่าหากมีการกักขังแกนนำเหล่านี้ต่อไปอีกสุดท้ายเขาจะรับสารภาพ เราถามว่าความยุติธรรมที่ได้จากการสารภาพที่ไม่ได้สารภาพจากสิ่งที่เขารู้สึกว่าการกระทำของเขาผิด แต่มันเป็นเพราะกระบวนการบังคับให้เขารับสารภาพและยอมจำนน มันเรียกว่าความยุติธรรมหรือครับ ดังนั้นผมยืนยันว่าควรที่จะให้เขาออกมามีสิทธิต่อสู้คดี” รังสิมันต์ โรม กล่าว

รังสิมันต์ โรมกล่าวว่า ได้เน้นย้ำกับรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า เวลาที่พาตัวไปเจอทนายความที่ศาล เวลาปรึกษาทนายความเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ใกล้ๆ เพียงแค่อยู่ในระยะสายตาไม่จำเป็นต้องฟังในสิ่งที่สนทนา ซึ่งทางราชทัณฑ์รับปาก


“โรม”เตรียมชง กมธ.กฎหมายเชิญประธานศาลฎีกา หลังโซเชียลวิจารณ์มีใบสั่ง

ทั้งนี้ รังสิมันต์เตรียมเสนอประเด็นความเป็นอิสระของศาลเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนในวันพรุ่งนี้ (1 เม.ย.) หลังในโลกออนไลน์ มีการพูดถึงกรณีที่ระบุว่าประธานศาลฎีกาถูกตั้งคำถามในที่ประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ว่าเหตุใดถึงไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวกับแกนนำของกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และยังมีการพูดถึงอีกว่ามีบุคคลภายนอกสั่งการมาอีกที  

แม้จะมีการแถลงข่าวโดยโฆษกของศาลว่าไม่เป็นความจริง แต่การชี้แจงยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง และเป็นโอกาสอันดีหากศาลสามารถชี้แจงให้สิ้นข้อสงสัย จึงเสนอเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการ ซึ่งจากการหารือในคณะกรรมาธิการก็ไม่มีใครเห็นแย้งเพราะมองว่ากรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหากกรรมาธิการรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ก็จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการเชิญประธานศาลฎีกา หรือตัวแทนของศาลมาให้ความเห็นและชี้แจงต่อไป  

เมื่อถามย้ำว่า ศาลจะมาชี้แจงหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบ แต่เห็นว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่หากศาลชี้แจงได้ดีก็จะเป็นเกราะป้องกัน แต่หากอธิบายไม่ดีประชาชนก็จะยิ่งเข้าใจผิด

“การทำหน้าที่ของเราไม่ได้หมายความว่าเราใหญ่กว่าศาล หรือศาลใหญ่กว่าเราไม่ใช่ว่าศาลศักดิ์สิทธิ์ จนไม่สามารถลงมาพูดคุยกับกรรมาธิการได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย อำนาจของเราตามรัฐธรรมนูญมี สามารถเรียกเขามาได้ แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถสั่งให้เขามาได้” รังสิมันต์ โรม กล่าว