28 พ.ค. 2566 เวลา 07.00 น. ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร สรุปดังนี้
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 16-37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมาก กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พายุฝนฟ้าคะนอง ฝน 40% ของพื้นที่
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา)
ในช่วงวันที่ 28 – 31 พ.ค. 2566 การระบายอากาศค่อนข้างดีถึงดีมาก ส่งผลให้ฝุ่นละอองแพร่กระจายได้ดี แม้ว่าชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้นค่อนข้างปิดสลับเปิด อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดฝนระหว่างสัปดาห์ จึงส่งผลให้คุณภาพอากาศดี และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน
ในช่วงวันที่ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2566 สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที
จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความเข้มงวดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน