ว่ากันด้วยบทบาทของ 'บิ๊กป้อม' พี่ใหญ่แห่งก๊วน 3 ป. เด่นเห็นได้ชัดตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยหลังรัฐประหาร พล.อ.ประวิตร เปิดมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ให้เป็นแหล่งพบปะ นัดพูดคุยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายทหาร ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ เข้าๆออกๆเป็นว่าเล่น เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเทศหลังทหารยึดอำนาจ
ต่อมาเมื่อมีการตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร ได้เข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญคือ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ควบ รมว.กลาโหม ขณะที่น้องรักอีกคนคือ 'บิ๊กป๊อก' พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.มหาดไทย และปัจจุบันก็ยังอยู่ในตำแหน่งรมว.มหาดไทย
ปัญหาของรัฐบาลรัฐประหารคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีคนเก่งๆ จะยอมเปลืองตัวเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ด้วยคอนเนคชั่นของ 'บิ๊กป้อม' จึงสามารถดึง 'หม่อมอุ๋ย' ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้
โดย บิ๊กป้อม และ 'หม่อมอุ๋ย' นั้น ทั้งคู่เป็นศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล
นอกจากนี้ 'หม่อมอุ๋ย' ยังเป็นหนึ่งในกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อฯ จึงมีความสนิทแนบแน่นกันดี
ที่เหนือไปกว่านั้น 'บิ๊กป้อม' ยังชวน 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ให้มานั่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คสช.
แม้ 'สมคิด" เอง จะไม่กินเส้นกับ 'หม่อมอุ๋ย' ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้" กระนั้น 'สมคิด' ก็ยอมนั่งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ คสช. เพราะสมคิดเอง สนิทชิดเชื้อกับ พล.อ.ประวิตร อยู่แล้ว
จนต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ 'หม่อมอุ๋ย' ออก 'บิ๊กป้อม" จึงขอให้นายสมคิด เข้ามาเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจแทน
ในงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล คสช. พล.อ.ประวิตร สร้างผลงานถูกใจ 'บิ๊กตู่' อย่างมาก โดยเฉพาะการควบคุมสถานการณ์ก่อนการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือน ส.ค. 2559 เพราะในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบรองหัวหน้า คสช. ทั้งยังกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกว่า 'บิ๊กป้อม' คุมกำลังทั้งทหารและตำรวจ
จึงทำให้การรณรงค์การออกเสียงประชามติ เป็นไปอย่างเงียบเชียบ ไม่คึกคักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และผลสุดท้ายคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ พร้อมคำถามพ่วง ผ่านความเห็นชอบการออกเสียงประชามติ
นอกจากนี้ตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช. ฝ่ายความมั่นคงภายใต้การดูแลของ 'บิ๊กป้อม' ยังคุมความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลได้ชนิดที่เรียกว่า "เอาอยู่" โดยมีมือขวาอย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาหารตำรวจแห่งชาติ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก คอยเป็นไม้เป็นมือ
ฝ่ายความมั่นคงในยุค 'บิ๊กป้อม' มีวิธีการปฏิบัติกับผู้เห็นต่างที่แปลกออกไป อย่างเช่นการชุมนุมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก็จะมีการจับ แต่ไม่ตั้งข้อกล่าวหา เพราะเห็นว่านั่นจะก่อให้เกิดเรื่องยืดยาว เป็นข้ออ้างในการปลุกระดม แต่หากไม่ควบคุมสถานการณ์ ก็จะทำให้ผู้ชุมนุมได้ใจ แล้วขยายวงกวางขึ้น
แต่ระหว่างรับบทบาทสำคัญ นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่ 'บิ๊กป้อม' มีแผลตามตัว โดยมีทั้งแผลเล็กแสบๆ คันๆ ไปจนถึงแผลใหญ่ จนเกือบเอาตัวไม่รอด ถึงขั้นเกือบหลุดจาก ครม.เลยทีเดียว
ปลายปี 2559 สื่อมวลชน ขุดเอกสารการเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 29 ก.ย.-1 ต.ค. 2559 ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ด้วยงบค่าใช้จ่าย 20.9 ล้านบาท มีผู้ร่วมบิน 38 คน ขณะที่เครื่องบินซึ่งเป็นโบอิ้ง 747-400 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 416 คน
ยิ่งขุดลงไปก็พบว่า มีเมนูอาหารไข่ปลาคาเวียร์เสิร์ฟบนเครื่องอย่างหรูหราอลังการ นั่นทำให้ นักร้องแห่งยุคสมัยอย่าง 'ศรีสุวรรณ จรรยา' ไม่พลาดที่จะเกาะกระแส ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ
ประเด็นนี้เขย่า พล.อ.ประวิตร ได้พอสมควร โดยมีการโจมตีอย่างหนักว่าใช้เงินหลวงอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่เห็นหัวประชาชน ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ตอบเรื่องนี้ว่า "ไม่ได้ไปเที่ยว ไปทำงาน ต้องเหมาลำเพราะไม่มีสายการบินบินตรง ไปแค่ 3-4 วัน และอาหารก็ไม่ได้กินแพง"
เดือน ธ.ค.2560 'บิ๊กป้อม' ถูกเล่นงานอย่างหนักจากการครอบครองแหวนเพชรและนาฬิกาหรูนับ 20 เรือน โดยไม่ได้แจ้งรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่ง “บิ๊กป้อม” ให้ความกระจ่างแก่สาธารณะว่า "แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน(ที่ตายไปแล้ว)"
'บิ๊กป้อม' อ่วมหนักเมื่อเจอกระแสสังคมกดดันให้ลาออก เพื่อเปิดทางให้ ป.ป.ช.ได้มีอิสระในการตรวจสอบ เพราะประธาน ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นั้น หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนของ พล.อ.ประวิตร เอง นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนัก คะแนนนิยมตกต่ำ พร้อมกับเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับพี่ใหญ่ออก แต่ในที่สุด พล.อ.ประวิตร ก็ผ่านมาได้ เมื่อ ป.ป.ช.ตีตก สรุปว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ผิด
พล.อ.ประวิตร เคยมีข่าวว่าจะหลุดจาก ครม.อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นผลจากคนใกล้ชิดไปก่อเรื่องงามไส้จนเกือบทำให้พี่ใหญ่เอาตัวไม่รอด โดยมีกระแสข่าวว่า "บิ๊กตู่" จะขอให้พักผ่อนบ้าง บิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.จะเข้ามานั่งแทนบ้าง ส่วนครั้งที่ 2 เป็นผลจากแรงกดดันเรื่องนาฬิกาหรู ที่บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกู้ศรัทธารัฐบาล
สำหรับ พล.อ.ประวิตร มักพูดน้อยเวลาให้สัมภาษณ์สื่อมงลชน
แต่ด้วยความไม่ระมัดระวัง บางครั้งหลายคำพูดของ "บิ๊กป้อม" ก็ไม่เป็นสีแก่ตัวนัก เช่น เหตุเรือล่มใกล้กับเกาะภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 41 ราย พล.อ.ประวิตร ได้ตอบผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า
"คนจีนเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เขาทำของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เราจะให้ไปเรียกความเชื่อมั่นได้อย่างไร"
อีกกรณีคือการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 หลังบิดามารดานำร่างไปชันสูตรและพบอวัยวะภายในหาย โดยยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิตว่าอาจโดนซ่อมจนเสียชีวิตหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ตอบตอนหนึ่งว่า
"ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย"
แม้กระนั้น 'บิ๊กป้อม' ก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญคือการเร่งรัดและติดตามการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน จนทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ปลดธงแดงของไทย และอีกงานคือมีส่วนสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรป(อียู)ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู)ของไทย
'บิ๊กป้อม' ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการวางแผนเพื่อไปต่อของ คสช. นายทหารอาวุโสท่านนี้ ได้รับการขนานนามว่า "ผู้จัดการพรรคพลังประชารัฐ"
โดยมีข่าวมาตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคว่า 'บิ๊กป้อม' อยู่เบื้องหลังพรรค พปชร.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การดูด ส.ส. ดีลนายทุน พูดคุยกับข้าราชการ รวมไปถึงการซัพพอร์ตด้านปัจจัย เหล่านี้ 'บิ๊กป้อม' จัดการเบ็ดเสร็จ จนทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ ส.ส.ในสนามการเลือกตั้งถึง 116 คน และสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
'บิ๊กป้อม' เปลี่ยนรัฐบาล คสช.ที่เปรียบเหมือนเรือแป๊ะโครงเครง ให้เป็นเรือเหล็กที่มีความแข็งแกร่ง เพราะได้ความชอบธรรมจากการเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ส.เกินครึ่งของสภาสนับสนุน มี ส.ว.250 คนช่วยเสริมอำนาจค้ำยันการสืบทอดอำนาจ คสช. และยังมีกองทัพอยู่ด้านหลัง
ไม่เพียงเท่านั้น ผบ.ตร. ก็ยังอยู่ในโอวาทของ "บิ๊กป้อม" ส่วนประธานองค์กรอิสระอย่าง "ป.ป.ช." ก็เคยเป็นรองเลขาธิกาฝ่ายการเมืองของ "บิ๊กป้อม" เป็นผู้ที่คณะรัฐประหารเลือกให้นั่งรักษาการ ผบ.ตร.หลังวันที่ 22 พ.ค.2557 และได้เป็น ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา
ในรัฐบาลใหม่ แม้ 'บิ๊กป้อม' จะเหลือแค่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพียงตำแหน่งเดียว แต่ดูเหมือน 'บิ๊กป้อม' จะไม่ได้ใส่ใจนัก
เพราะตอนนี้ 'บิ๊กป้อม' มุ่งเข้าสู่โหมดภาคการเมืองเต็มตัว ด้วยการเข้าไปนั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.มีอำนาจเหนือหัวหน้าพรรคอย่างนายอุตตม สาวนายน
'พล.อ.ประวิตร' เป็นคนคอยควบคุมทิศทางของพรรคอยู่เบื้องหลัง และมีนักการเมืองมากหน้าหลายตาเข้าหาไม่ขาดสาย เพราะแกนนำพรรค พปชร.รู้ดีว่า จะต้องเข้าหาใคร หากอยากได้ตำแหน่งสำคัญมาครอง
เมื่อ 'บิ๊กป้อม' เปิด จึงทำให้นักการเมืองพากันยกมือท้วมหัว ไหว้วานเอาใจ บางกลุ่มยุให้ 'บิ๊กป้อม' ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.เพื่อเขี่ยทีมนายสมคิด ออกจาก ครม.เปิดทางให้คนของตัวเองได้เข้าไปเสียบแทน
กระนั้น 'บิ๊กป้อม' ก็ยังชั่งใจ และประเมินกระแสตอบรับด้วยว่า ดี หรือ แย่
เพราะต้องอย่าลือว่า 'บิ๊กป้อม' เป็นเป้าในการโจมตีของกลุ่มการเมืองฝั่งตรงข้าม ถือว่าเป็นสายล่อฟ้ากว่า 'บิ๊กตู่'
ฉะนั้น การขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคของ 'บิ๊กป้อม' อาจเป็นชนวนจุดกระแสการลุกฮือของฝ่ายตรงข้ามได้เป็นอย่างดี
และต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตร อยู่ในวัย 75 ปีแล้ว แม้จะสร้างผลงานถูกใจ "พล.อ.ประยุทธ์" แต่ก็มาพร้อมกับบาดแผลตามตัว จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดหนัก หากได้นั่งหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างพรรค พปชร.ที่แบ่งก๊กแบ่งเหล่ากันอย่างชัดเจน ตรงนี้เป็นสิ่งที่น้องรักอย่าง "บิ๊กตู่" ถามว่าจะไหวหรือไม่
พล.อ.ประวิตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในมหากาพย์การเมืองยุคนี้ โดยเป็นผู้มากบารมีค้ำจุนให้ 'บิ๊กตู่' อยู่ยงคงกระพันนานถึง 6 ปี
และมีวี่แววว่าจะอยู่ต่อไปอีกยาวนานจนครบวาระ เพราะนับวันเสียงฝั่งรัฐบาลยิ่งจะมากขึ้นเรื่อยๆ
หากไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง