เฟซบุ๊ก @sexyBNK (เจ็ดแมงดา) เผยแพร่ข้อมูลพาดพิง 'ไอดอล' ชื่อย่อ 'ฌ.' พร้อมภาพที่นำมาจากคลิปโฆษณาสถาบันแห่งหนึ่งที่ระบุว่าสามารถตรวจศักยภาพสมองของเยาวชนได้ด้วยการสแกนและวิเคราะห์ลายผิวมือ ทั้งยังมีการติดแฮชแท็กว่า #ไอดอลวิทยาศาสตร์ หากินจาก #วิทยาศาสตร์เทียม อีกด้วย
ข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่า "มีบริษัทหนึ่งนำเข้าเทคโนโลยีจากวิทยาศาสตร์เทียมที่ระบาดอยู่ในเอเชียไปโฆษณาขายฝันตามโรงเรียน หลอกลวงประชาชน โดยใช้การตรวจศักยภาพสมองด้วยการสแกนลายนิ้วมือและนิ้วตีน (Dermatoglyphics Multiple Intelligence Test : DMIT) อ้างหลักวิทยาศาสตร์(เทียมๆ)และหลักสถิติ(ปลอมๆ) เพื่อบอกว่าเด็กมีพรสวรรค์หรือความถนัดด้านไหน ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เรียนพิเศษหรือมีกิจกรรมอะไร มุ่งไปสายอาชีพไหน
ความร้ายกาจสุดๆ ของพวกมันคือการพ่วงเอาคลิปวิดีทัศน์ที่ไปโฆษณาสัมภาษณ์ "ไอดอลวิทยาศาสตร์" ชื่อดังจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล เล่าเรื่องราวเชิญชวนประชาชนไปให้เป็นเหยื่อบริษัทต้มตุ๋น
ไอดอลคนนี้ เธอชื่อย่อ "ฌ." ครับ บริษัทเอาคลิปที่จ้างเธอเป็นพรีเซ็นเตอร์ไปฮั้วะกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง เที่ยวเชิญชวนให้ผู้ปกครองเอาเด็กแห่กันไปตรวจแล้วจะมีส่วนลดพิเศษให้ ลวงโลกทั้งเพ ทำกิจการกันเป็นล่ำเป็นสันบนเส้นทางของวิทยาศาสตร์เทียม!
เด็กพิการมันก็บอกใช้ผลจากการตรวจนิ้วเท้าด้วยก็จะแม่นยำ 85-90% เด็กมีความผิดปกติทางพันธุกรรม พวกดาวน์ซินโดรม คริดูชาต์ ซึ่งลายนิ้วมือจะผิดปกติ มันก็เอาไปอ้างว่าสามารถวิเคราะห์ศักยภาพเด็กจากลายนิ้วมือจำพวกนี้ได้ หลอกลวงประชาชน จะกอบโกยเอาแม้กระทั่งกับคนพิการ!!"
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเจ็ดแมงดายังได้พาดพิงถึงคลิปโฆษณาของสถาบัน ซึ่งทั้งไอดอลหญิงคนดังกล่าวและมารดาของเธอได้ให้สัมภาษณ์ในเชิงสนับสนุนบริการของสถาบัน โดยเพจดังกล่าวตั้งข้อสงสัยด้วยว่า การตรวจแล้วได้ผลว่ามีศักยภาพของนกยูง นกแก้ว นกกระจอกเทศ 'เป็นวิทยาศาสตร์ตรงไหน' พร้อมระบุว่า โฆษณาดังกล่าวเป็นการ 'สร้างหลักการมั่วๆ ขึ้นมาเพื่อหลอกขายของ ไม่ต่างกับการดูดวง อ่านลายมือ'
ข้อความในเพจเจ็ดแมงดาที่พาดพิง 'ไอดอลวิทยาศาสตร์' มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อแล้วอย่างน้อย 622 ครั้ง (ข้อมูลเมื่อเวลา 18.30 น. ของวันที่ 3 มี.ค. 2562) และมีผู้กดแสดงความรู้สึกกว่า 800 ครั้ง โดยภาพของไอดอลที่ถูกพาดพิงคือ 'เฌอปราง อารีย์กุล' ซึ่งเป็นสมาชิกที่โด่งดังของวง BNK48 ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบวง BNK48 เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์เพจดังกล่าวว่าพาดพิงบุคคลอื่นโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงเกินเหตุ แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายก็เห็นด้วยว่าการโฆษณาเรื่องการตรวจศักยภาพสมองผ่านลายผิวมือหรือลายนิ้วมือ ไม่น่าจะพิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และอาจเข้าข่ายหลอกลวง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการชี้แจงหรือแถลงข่าวใดๆ จากฝั่งวง BNK48 แต่ข้อกล่าวหาเรื่องที่เฌอปรางใช้ชื่อเสียงในฐานะ 'ไอดอลวิทยาศาสตร์' สนับสนุน 'วิทยาศาสตร์เทียม' นั้นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากคลิปโฆษณาที่ถูกเพจดังกล่าวอ้างถึง จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ก่อนที่วง BNK48 จะก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2560
ขณะเดียวกัน ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพจซึ่งใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับคำว่า 'เจ็ดแมงดา' นำข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกวง BNK48 มาเผยแพร่ลงในสื่อออนไลน์ โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก SexyBNK by เจ็ดแมงดา ได้เผยแพร่ภาพ 'น้ำใส' หรือ พิชญาภา นาถา สมาชิกคนหนึ่งของวง BNK48 สวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของนาซีเยอรมนีในอดีตขึ้นเวทีซ้อมการแสดง
กรณีของน้ำใสและเสื้อสัญลักษณ์นาซีกลายเป็นประเด็นใหญ่ระหว่างประเทศ โดยบุคลากรของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย รวมถึงเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ แสดงความรู้สึกตกใจที่สมาชิกวง BNK48 ไม่ทราบว่าการสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์นาซีเป็นการทำร้ายจิตใจครอบครัวผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่น้ำใสและผู้จัดการวงได้เข้าพบเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศ เพื่อแสดงความจริงใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.พ. เฌอปรางและสมาชิกวง BNK48 ได้ร่วมกันแจ้งความเอาผิดผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อเจ็ดแมงดา (7 Mangda) ในข้อหาตัดต่อภาพลามก ทำให้ทวิตเตอร์ดังกล่าวถูกระงับบัญชีไปแล้วในขณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: