ไม่พบผลการค้นหา
ครป.เปิดเวทีสำแดงพลัง 'พอกันที! ยกเลิกระบอบประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน' ระดม 30 องค์กรเครือข่าย ถกแก้ รธน. ใหม่ ยกเลิกมรดก คสช. ต้านคำวินิจฉัย

วันที่ 7 ต.ค. 2565 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ 30 องค์กรประชาธิปไตย และเครือข่าย 99 พลเมือง จัดเวทีเสวนา 'พอกันที! ยกเลิกระบอบประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน' เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และครบรอบ 1 สัปดาห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในช่วงต้นของการเสวนา เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในภาพรวมว่า สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัญธรรมนูญ สะท้อนว่ารัฐธรรมฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกีดกันกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อถึงคราวฝ่ายตัวเองโดนบ้าง ก็หาทางหลบเลี่ยงไป นำมาสู่ความไม่พอใจของสังคม เวทีนี้จึงมุ่งหาหนทางยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และเสนอหนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเด็นต่างๆ โดยการรวบรวมความเห็นจากภาคประชาชน

70B71805-8051-4E16-B77F-D2FAB0CAD5FA.jpeg57133915-5559-4592-9938-47E5FB829D40.jpeg

โภคิน ชี้วนเวียนร่าง รธน.สืบทอดอำนาจ ดันประชาชนฟ้องเอาผิดคนก่อรัฐประหาร

โภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประเทศไทยวนเวียนอยู่บนถนนเส้นเดิมของการรัฐประหาร การออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือฉบับถาวรที่เป็นการสืบทอดอำนาจโดยสมบูรณ์ หรือเป็นกึ่งประชาธิปไตย เหตุใด 90 ปี จึงยังวนอยู่ที่เดิม ตนมองว่ามี 2 สาเหตุใหญ่ คือวัฒนธรรมและอำนาจนิยม แล้วความคิดแบบรัฐราชการ ที่ดำรงวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้อยู่ต่อไปได้ 

"90 ปีมานี้ ไม่นับปี 2540 ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ยกร่างโดยประชาชนเลย ส่วนใหญ่ยกร่างโดยผู้ยึดอำนาจทั้งสิ้น และช่วงหลังๆ จะพบว่าคนยกร่างคือคนเดียวกันนั่นแหละ วนไปวนมาแค่นี้ ก็พยายามจะเขียนให้อำนาจเผด็จการปักหลักปักฐานให้แน่นแฟ้นที่สุด และไม่ต้องรับผิดชอบใดไม่ว่าทางแพ่งหรืออาญา บางฉบับเขียนว่า นอกจากชอบแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดชอบในทางใดๆ เหลือเชื่อว่ากล้าที่จะใช้คำถึงขนาดนี้ สิ่งเดียวที่ยังไม่ต้องทำคือเขียนว่า อำนาจไม่ใช่ของประชาชน"

ดังนั้น การทำรัฐประหาร และแก้ให้ศาลตีความการรัฐประหารให้ไม่ผิดกฎหมาย ทำให้วงจรดังกล่าวไม่เคยจบ รัฐราชการและอำนาจนิยมจึงเปรียบเหมือนกองขยะที่เหม็นโฉ่ บุคคลเครือข่ายอำนาจก็เปรียบเหมือนแมลงวัน แม้จะฆ่าไปกี่ตัวแต่กองขยะยังอยู่ ย่อมมีแมลงวันเข้ามาตอมอีก ต้องหาวิธีเปลี่ยนกองขยะเป็นสวนดอกไม้ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำหวานด้วย ตนจึงพยายามเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องถามประชามติก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

โภคิน เสนอการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันรัฐประหาร โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมักเขียนไม่กี่มาตรา แล้วระบุว่าให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอให้เพิ่มเนื้อ ข้อห้ามนิรโทษกรรม แล้วกำหนดให้ข้อนี้เป็นบทบัญญัติตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด ศาลในอนาคตที่มีความกล้าหาญจะมั่นคงในหลักการนี้ อีกทั้งยังต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในการรัฐประหาร สามารถฟ้องร้องเอาผิดผู้ก่อการรัฐประหารได้ ในรัฐธรรมนูญไม่เคยระบุประเด็นนี้มาก่อน หากมี ส.ส.ร. อีกครั้ง ควรร่วมกันผลักดันประเด็นนี้

CB398FA3-A1BA-4D2B-A286-9A037464D9CD.jpeg

พริษฐ์ แนะรีเซ็ตประเทศไทย ดันประชามติแก้ รธน.

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล นำเสนอการประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อ ครม. รีเซ็ตประเทศไทย (พร้อมการเลือกตั้ง) โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลเชื่อว่าภาคประชาชนหลายคนเห็นตรงกันว่าภาคสุดท้ายที่ต้องเกิดขึ้นในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาทดแทนฉบับ 2560 ที่ผ่านมามีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปทั้งหมด 25 ร่าง ทุกร่างถูกปัดตกหมด ผ่านมาเพียงร่างเดียวที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง 

สังเกตเห็นได้ว่าอุปสรรคที่ผ่านมาที่ทำให้ไม่สามารถแก้ร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนหนึ่งมาจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) ที่ถูกแต่งตั้งมาจาก คสช. จึงนำมาสู่ข้อเสนอเรื่อง'รีเซ็ตประเทศไทย เลือกตั้งใหม่รัฐธรรมนูญใหม่' หัวใจสำคัญของข้อเสนอนี้ คือเสนอให้มีการจัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อถามประชาชน 1 คำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยกลไกในการยื่น 50,000 รายชื่อไปที่ 

พริษฐ์ได้ยก 6 เหตุผล ของการทำประชามติ ได้แก่ 1) คิดว่าเป็นหนทางที่มีความเป็นได้สูงที่สุดในการจะนำพาสัมคมไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นกลไกที่ไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. แม้แต่เสียงเดียว 2) ยืนยันว่าข้อเสนอนี้ ครม.หรือรัฐบาล จะหาเหตุผลมาปฏิเสธยากมาก เพราะเคยโหวตรับหลักการข้อเสนอนี้มาก่อนแล้ว 3) การยื่นข้อเสนอไปที่ ครม.เป็นกลไกในการเรียกร้องการรับผิดชอบจากนายกฯ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหลักการของระบบรัฐสภาทั่วโลกนายกฯในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรได้ 

4) ไม่ว่าผลการเลือกตั้งปี 2566 จะออกมาเป็นอย่างไร หากประชาชนส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบ ไม่ว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นใคร รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรัฐบาลถัดไปก็ต้องทำตามสิ่งที่ประชาชนลงมติ ซึ่งแนวทางที่ทำให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรงที่จะผูกมัดต่อไป 5) หากจัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง จะช่วยประหยัดงบประมาณ 6) หากจัดวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ยังไงก็ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงประชามติเกินครึ่งอยู่แล้ว

แกนนำราษฎรปลุกมวลชนเข้าคูหา

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เกิดขึ้นมาด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบทำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และยังถูกแก้ไขเนื้อหาในส่วนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่ามีหรือไม่มีก็ได้ หลังจากผ่านประชามติไปแล้ว ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าประเด็นใด หากเกิดขึ้นหลังประชามติ จะถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยให้เป็นไปตามสิ่งที่ตัวเองต้องการในภายหลัง ถือเป็นอีกจุดบอดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่ควรยอมรับ

ในช่วงกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้มีการเคลื่อนไหวให้นำมาตรา 269-272 ที่ว่าด้วยอำนาจ ส.ว. ออกไปก่อน แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ทางภาคประชาชนจึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหลายครั้ง ทว่าก็ถูกตีตกในรัฐสภาทั้งหมด โดยเฉพาะจาก ส.ว. 250 คน รวมถึง ส.ส.บางฝ่ายที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม แม้จะเหลือให้เป็นข้อเสนอแก้มาตรา 272 เพียงมาตราเดียว ก็ยังถูกปัดตกอีก ยิ่งสะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ ส.ว. มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งประเทศ

เจตจำนงที่ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ของภาคประชาชนชัดเจนแล้ว แต่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถกดดันพรรคการเมืองให้เห็นความสำคัญ และแสดงจุดยืนที่ชัดเจนร่วมกับประชาชน ถ้าประชาชนจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการยืนหยัดกดดันในทุกๆ ประเด็น ตั้งแต่การไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ครม. สว. หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในเมื่อมีการบิดเบี้ยวกฎหมายตามอำเภอใจเช่นนี้แล้ว การแสดงจุดยืนจึงยิ่งมีความสำคัญ

"ภาคประชาชนอย่างเราจำเป็นต้องเข้มแข็งมากพอ ให้ทันกับจังหวะการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือหากไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเข้มแข็งมากพอที่จะให้เกิดการเลือกตั้งเพื่อจะนำอำนาจกลับคืนมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง" ภัสราวลี กล่าว

269D681D-219E-4118-A83D-AE3E6CF9DCF1.jpeg

จากนั้น เป็นการอภิปรายโต๊ะกลม แลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ จากตัวแทนองค์กรประชาธิปไตย และเครือข่ายพลเมืองร่วม 30 องค์กร อาทิ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สุนี ไชยรส อดีต ส.ส.ร. 2540 จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) สมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย เยี่ยมยอด ศรีมันตะ กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย และสหภาพครูแห่งชาติ พะเยาว์ อัคฮาด กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 สุนัย เศรษฐบุญสร้าง สถาบันสร้างอนาคตไทย

พชร วัฒนสกลพันธุ์ และ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมอิสระ และ อภิวัฒน์ วิชัย กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย (Non-Binary TH)​ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ