ไม่พบผลการค้นหา
กรรมการสิทธิมนุษยชน มองกรณี ‘จ่านิว’ คือผลพวงความรุนแรงจากวาทกรรมการเกลียดชัง 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ทำให้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหดหาย ย้ำการสร้างความปรองดองไม่สามารถบังคับได้ด้วยกฎหมาย

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเปิดงาน ‘De-Talk ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน’ ที่จัดโดยโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอร์), เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, เครือข่ายนักปฏิบัติการเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน, และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยกับการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ’ ว่า 5 ปีที่ผ่านมาสิทธิพลเมืองที่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ความกลัวของรัฐบาลที่มีต่อเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลออกกฎหมายและคำสั่ง คสช. หลายฉบับที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน การรวมกลุ่มของประชาชนทำได้ยากมากขึ้น

ขณะเดียวกันได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจที่จะตีความว่าอะไรเป็นการชุมนุม คัดค้านความสงบ ไม่ได้แยกแยะว่าการปกป้องประโยชน์สาธารณะคืออะไร และจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองประชาชนอย่างไร

ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย 200-300 ฉบับ แต่มีอยู่ฉบับเดียวที่ไม่กล้าออก คือร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่แขวนอยู่ในสภาวันสิ้นสุดลงของ สนช. โดยยังไม่มีผู้ใดออกมาให้เหตุผลว่ากฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจากการละเมิดโดยรัฐ เหตุใดจึงไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช.

นางอังคณา กล่าวต่อว่า วาทกรรมของการเกลียดชังได้แปรเปลี่ยนมาเป็นการสร้างความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากกรณีของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว และนายเอกชัย หงส์กังวาน 2 นักกิจกรรมทางการเมือง ความท้าทายที่พบในปัจจุบันนี้ คือสังคมไทยมีการเกลียดชังคนเห็นต่างมากขึ้น เมื่อดูจากสื่อออนไลน์ที่ได้สร้างความเกลียดชังและเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นทาง 

สิ่งที่ท้าทายกับรัฐบาล คือทำอย่างไรไม่ให้ทำเกลียดชังมาบดบังความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทำอย่างไรไม่ให้ความเกลียดชังต่อความเห็นที่แตกต่าง ทำให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์หายไป รัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพในร่างกายและในชีวิตของทุกคน ยุติความเกลียดชังหรืออาชญากรรมจากการเกลียดชัง โดยรัฐต้องมีเจตจำนงค์ที่จะเปิดเผยความจริง การสืบสวนสอบสวนต้องทำโดยเร็ว และไม่ปกปิดว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ต้องนำคนผิดมาลงโทษไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนของรัฐหรือไม่ก็ตาม

นางอังคณา กล่าวด้วยว่า เหตุผลหนึ่งของการรัฐประหาร คือการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แต่การปรองดองไม่สามารถถูกบังคับ หรือยัดเยียดด้วยการใช้กฎหมายได้ การปรองดองจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาเองในจิตใจของคนที่ต้องการที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้ อดทนอดกลั้นที่จะรับฟังกันได้ หากไทยไม่แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ ในอนาคตจะมีคนที่เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิ ได้รับกระทบจากความไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจรัฐในที่สุด

ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ ‘คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย’ ซึ่งเป็นการแสดงเส้นทางการต่อสู้และสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารของประชาชนในช่วง 5 ปี คสช. ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2557 ถึงปัจจุบัน ซึ่งจัดทำโดยไอลอร์ และพิพิธภัณฑ์สามัญชน ขณะเดียวกันยังมีการฉายสารคดี ‘ชีวิตผู้ลี้ภัยไทย’ ด้วย