ไม่พบผลการค้นหา
ความเคลื่อนไหวของ 'เหล่าทัพ' ในการเสนอจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์กลับมาอีกครั้ง หลังที่ประชุม ครม. ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 66 เสนอต่อสภาฯ ทำให้แต่ละเหล่าทัพต้องเสนอโครงการที่ใช้งบมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ ครม. อนุมัติ

ล่าสุด ครม. ได้อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของ ทอ. เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 งบประมาณ 13,800 ล้านบาท จำนวน 4 ลำ แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยเป็นเครื่องบินชนิดใด เพราะเป็น “เอกสารริมแดง” หรือ “เอกสารลับ” 

แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ทอ. มีความต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ตามที่ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตย์มี ผบ.ทอ. ต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 ด้วยเหตุผลราคาที่เอื้อมถึง และเป็นเครื่องบินเจอเนเรชั่นที่ 5 มีความทันสมัย เพราะมีเทคโนโลยีสเตลธ์ และเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ที่ใช้มากว่า 35-40 ปี

ทั้งนี้มีรายงานว่าเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 รุ่นที่ประเทศไทยจัดหา คาดว่าจะเป็นรุ่นเอ ที่ต้องขึ้นบินทางลาด ไม่สามารถบินทางดิ่งได้ แต่มีสมรรถนะบินได้ไกลกว่า และมีราคาถูกกว่าเครื่องบินเอฟ-35 รุ่นบี ที่สามารถบินทางดิ่งได้

โดยราคาตัวเครื่องเปล่ารุ่นเออยู่ที่ราว 82 ล้านเหรียญ/เครื่อง หากติดอาวุธจะอยู่ที่ 100 ล้านเหรียญฯ/เครื่อง ซึ่งรวมหลักสูตรการฝึกบินด้วย โดยราคาเครื่องเมื่อแรกเปิดตัวอยู่ที่ 142 ล้านเหรียญฯ/เครื่อง นั่นหมายความว่าราคาลดลงมากว่า 30% โดยมีปัจจัยมากจากความต้องการที่มีมาก ทำให้มีสายการผลิตที่เยอะ จึงทำให้ราคานั้นถูกลง ขณะที่เครื่องบิน JAS-39 E/F Gripen Next Gen รุ่นใหม่ ของสวีเดน ราคาสูงถึง 85 ล้านเหรียญ/เครื่อง

ทั้งนี้ ทอ. มีแผนจัดหาประมาณ 8-12 เครื่อง ตามนโยบาย ผบ.ทอ. ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องครบฝูงที่ 16 เครื่อง ซึ่งในกรณีนี้ทาง ทอ. ได้เล็งเห็นถึงเทคโนโลยี Kratos XQ-58 Valkyrie ของ ล็อกฮีด มาร์ติน ผู้ผลิตเครื่องบิน เอฟ-35 ที่จะใช้เป็น Wingman เปรียบเหมือนเครื่องบินรบอีกหนึ่งเครื่อง แต่ไร้นักบิน และสามารถทำภารกิจโดยการควบคุมจากเครื่องบิน เอฟ-35 จึงทำให้ไม่ต้องซื้อครบฝูง 16 ลำ แต่ทดแทนด้วยเครื่องบิน UAV เหล่านี้แทน และเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย

นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กองทัพอากาศ C670D99C375.jpeg

อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2564 ทอ. ได้จัดหาเครื่องบินโจมตีแบบเบารุ่น AT-6 จากสหรัฐฯ 8 ลำ พร้อมอุปกรณ์อะไหล่ ระบบสนับสนุนการฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อทดแทนเครื่องบิน L-39 ที่ใช้งานมากว่า 25 ปี และได้ปลดประจำการแล้ว วงเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568

สำหรับขั้นตอนต่อไปของโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 จะถูกบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อส่งให้สภาฯ พิจาณา ผ่าน กมธ.งบประมาณฯ ที่ ผบ.เหล่าทัพ ต้องเข้าไปชี้แจงงบด้วย

มากันที่ “กองทัพเรือ” ที่เห็นสัญญาณ “เรือดำน้ำ” จะดำไม่โผล่อีกปี ทำให้ ทร. ตัดไฟแต่ต้นล้ม ไม่ให้ “โดนตัดงบฟรี” และ “โดนด่าฟรี” เฉกเช่นที่ผ่านมา

โดย พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ได้สั่งถอยโครงการเรือดำน้ำจีน Yuan Class S26T ลำที่ 2-3 ไม่บรรจุไปใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อนำงบประมาณไปใช้ซ่อมแซมยุทโธปกรณ์อื่นๆ ดูแลสวัสดิการกำลังพล และด้วยข้อจำกัดใหญ่คือ ทร. มี “หนี้งบผูกพัน” จำนวนมากอยู่แล้ว 

สมประสงค์ นิลสมัย ชายชาติ ศรีวรขาน กองทัพเรือ 77159C33-D3E8-4F2D-A742-9C80B6E7F13E.jpeg

จึงทำให้โครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ต้องเลื่อนไปถึง 4 ปีงบประมาณ ทำให้งบถูกตีตกรวม 3 ปี ถูกตัดไปฟรีๆ โดยงบปี 2563 จำนวน 3,375 ล้านบาท ต้องส่งคืนคลัง ตามแนวทางโอนงบสู้โควิด

จากนั้นงบประมาณปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ก็ถูกตีตก ส่วนงบประมาณปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท แม้ทาง ทร. จะไปเจรจากับทางการจีนลดเหลือ 900 ล้านบาท เพื่อให้โครงการได้ตั้งไข่ แต่สุดท้าย ทร. ก็ต้อง “กลืนเลือด” ถอยเช่นเดิม

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ทางการจีนได้มีข้อเสนอต่อ ทร. ในการให้ “เรือดำน้ำมือ 2” ชั้น Ming แก่ไทย เพื่อใช้ในการฝึกศึกษา หรือเป็น “เรือครู” นั่นเอง แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถูกมองว่าทางจีนต้องการ “ดักทางไทย” ให้ยังคงจัดหาเรือดำน้ำจีนชั้น Yuan ลำที่ 2-3 ต่อไป รวมทั้งเพื่อรอเรือดำน้ำลำแรก ที่ต่ออยู่ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เตรียมเข้าประจำการที่ไทยปี 2567 หลังเลื่อนจากปี 2566 ด้วยสถานการณ์โควิด และเพื่อรอ ทร. ได้รับการอนุมัติจัดหาเรือดำน้ำจีน ลำที่ 2-3 ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ถูกจับตาในระดับภูมิภาค ในการขยายอำนาจทางทะเลของจีน เพราะเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2564 ประเทศจีนได้มอบเรือดำน้ำมือ 2 ชั้น Ming ให้กับ ทร.เมียนมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบการก่อตั้ง ทร.เมียนมา 74 ปี โดยเรือลำดังกล่าวชื่อว่า “UMS Minye Kyaw Htin” ซึ่งเป็นชื่อกษัตริย์นักรบของเมียนมาในอดีต

ทั้งนี้ในแวดวงวงการอาวุธยุทโธปกรณ์ก็กำลังจับตาการเจรจาระหว่างจีนกับ ทร. จะจบที่เรือดำน้ำมือ 2 ชั้น Ming หรือไม่ โดยคาดว่าจะเป็นรุ่น Ming ตอนปลายที่ผลิตช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา จึงต้องติดตามว่า ทร. จะสามารถเจรจาขอเป็นเรือดำน้ำชั้น Yuan ยุคแรกเริ่มได้หรือไม่ เพื่อให้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับชั้น Yuan ตามที่ไทยได้จัดหานั่นเอง

ทหาร ชัยชาญ ณรงค์พันธ์ ผู้นำเหล่าทัพ กองทัพ 34429000000.jpg

ท่ามกลางสถานการณ์โควิดและปัญหาสินค้าราคาแพงในขณะนี้ การจัดหายุทโธปกรณ์ย่อมถูก “อภิปราย” ในสภา โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่ “ตั้งป้อม” เตรียมพร้อม อยู่ที่ “กองทัพ” จะชี้แจงอย่างไร รวมทั้งสถานการณ์รอบบ้านของไทยที่ 2 มหาอำนาจ “พญามังกร-พญาอินทรี” คำรามใส่กัน ซึ่งไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ และยังไม่ถูกอิทธิพลของชาติใดเข้าครอบงำเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นภาพของการจัดซื้ออาวุธจึงต้อง “วางสมดุล” ทั้งการเมือง “ดุลอำนาจโลก-ภูมิภาค” กับบริหาร “ความรู้สึก” ประชาชนในเวลานี้ไปพร้อมกัน