นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว นิยามคำว่า คู่ชีวิต หมายถึงบุคคลสองคนที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ คือไม่ใช่ระหว่างชายและหญิง โดยจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องแสดงคำร้องและความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดกฎเกณฑ์ ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต ด้วยความตาย หรือการสมัครใจเลิกกัน หรือว่าศาลพิพากาาให้เพิกถอนการเป็นคู่ชีวิต และยังกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต โดยให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้ โดยร่างกฎหมายนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนคำนำหน้านาม การเปลี่ยนชื่อสกุล สิทธิลดหย่อนภาษีในแง่สามี ภรรยา และการรับบุตรธรรม เนื่องจากมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว
นอกจากนี้การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการผลักดันกฎหมายลักษณะนี้ สำหรับจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 กำหนดบทนิยาม ผู้รักษาการตามกฎหมาย การจดทะเบียนคู่ชีวิต ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต ประเด็นที่ 3 การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต ประเด็นที่ 4 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต มรดก และอายุความ
อีกทั้ง ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิและหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิต เพราะการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ระบุว่าจะต้องเป็นการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 120 วัน ส่วนจะทันในสมัยของ สนช.ชุดนี้หรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง