นอกจากเตะถ่วงญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว ล่าสุดก็เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้ตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์" เพื่อสร้างความปรองดองและแก้ปัญหาให้กับประเทศ
ทว่าก็ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตตามมาทันทีว่า โวหารของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพียงการยื้อเวลาอีกรูปแบบหนึ่งของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ เพราะจากประวัติที่การทำงานที่ผ่านมาของตัวประยุทธ์เอง ไร้ซึ่งสัจจะวาจามาโดยตลอด
ตั้งแต่ครั้งรับราชการเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่ทำการใช้กำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ในปี 2557 ก็เกิดขึ้นทั้งที่ให้สัมภาษณ์เชิงปฏิเสธมาโดยตลอดว่า จะไม่ก่อการรัฐประหาร แต่แล้วก็ดำเนินยุทธการ "จับนกในกรง"
พลิกวิกฤตการเมืองให้เป็นโอกาสกับพวกพ้องของตนเอง ด้วยการเชิญคู่ขัดแย้งมาร่วมหาเจรจาหาทางออก ก่อนล็อคตัวผู้นำรัฐบาล แกนนำมวลชน ทุบโต๊ะปล้นอำนาจ เหมือนยามขึ้นบ้านอย่างดื้อๆ
ตลอด 6 ปี เผด็จการรัฐบาลคสช. ก็สร้างวาทกรรมวาดอนาคตของสังคมประชาธิปไตยที่ไม่มีวันมาถึงให้คนไทยว่า ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และผ่านบทเพลง เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน
ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ใช้องคาพยพ นั่งร้านเผด็จการ จาก สนช. สภาปฏิรูปชุดต่าง ๆ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเทคนิกการร่างกฎหมายสูงสุดสร้างเงื่อนไขยื้อเวลาคืนอำนาจ ไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ระหว่างปี 2558-2562 จนได้รับฉายา "ยุทธ์น็อกคิโอ"
ภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ใช่ชายชาติทหาร ชาญฉลาดหรือเป็นสุภาพบุรุษ แต่เป็นเพียง "โมฆะบุรุษ" ที่ไร้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ซึ่งภาพจำเหล่านั้นถูกย้ำชัด
เมื่อทำท่าขึงขังแถลงการณ์ทีวีพูลขอ คณะราษฎร 2563 "ถอยคนละก้าว" แต่พอตกดึกกลับมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคอยอุ้มแกนนำนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม พร้อมยัดคดี จับกุมคุมขังแกนนำอีกหลายรายอย่างไม่ละอายแก่ใจ การคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างยังเกิดอย่างต่อเนื่องราวกับเป็นเรื่องปกติ
ข้อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับ ส.ส.ซีกรัฐบาลเดินหน้าศึกษาจนได้รายงานฉบับหนึ่งความยาวไม่น้อยกว่า 500 หน้า แต่เมื่อเข้าสู่การประชุมรัฐสภาร่วมกับ สภาลากตั้ง 250 ส.ว. ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็เล่นเกมตุกติก ผ่านเทคนิคทางกฎหมาย ซื้อเวลาอีก 45 วัน ขอศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญซ้ำอีกรอบ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความมุ่งหมายให้ใช้เวทีรัฐสภาในการแสวงหาทางออกจากปัญหา ย้อนกลับไปยังปี 2553 ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนเกิดการปราบปรามโดยรัฐ จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย
ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา อาสาเป็นฝ่ายที่ 3 เพื่อเจรจาระหว่างรัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุม มุ่งคลี่คลายวิกฤตการเมืองโดยไร้ความรุนแรง ผ่านคณะกรรการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ประเด็นการติดตามเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง 12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 ของ วุฒิสภา
แม้ผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่รายงานฉบับดังกล่าว ทำให้ค้นพบสาระสำคัญของการทำงานด้านสันติวิธี ตั้งแต่โครงสร้างของคณะกรรมการที่ครบคลุมฝ่ายวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งถือว่า ได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้งและสังคมโดยรวม ตลอดจนเนื้อหาและการทำหน้าที่จนเกือบบรรลุเป้าหมาย ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและแกนนำเสื้อแดง ว่าจะยุติการชุมนุม ไม่ต้องนำกำลังเข้าสลาย ได้รับการตอบรับวันที่ 18 พ.ค. 2553ก่อนเกิดเหตุความรุนแรงวันที่ 19 พ.ค. 2553
ในเชิงโครงสร้าง แนวคิดการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อแก้วิกฤตการเมือง ปี 2563 โดยรัฐสภา จะพบว่า บริบททางการเมืองและสัดส่วนของคณะกรรมการมีความแตกต่างกับปี 2563 อย่างสิ้นเชิง เพราะการริเริ่มไม่ได้จากรัฐบาลในฐานะคู่ขัดแย้งโดยตรง เช่นเดียวกับ 250 ส.ว.ลากตั้งก็มาจากการแต่งของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง
ในแง่ตัวบุคคล จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ ตัวแสดงหลัก ตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้ง
เขาเคยเป็นสมาชิก สนช.ปี 2549 หลังการยึดอำนาจของ คมช. เป็น ผู้ช่วยผอ.ศอฉ.
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะที่นั่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นรอง ผอ.ศอฉ.
เมื่อย้อนกลับไปยังแกนกลางของข้อตกลงปี 2553 จากคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ที่ได้ข้อยุติกับรัฐบาลว่า แกนนำจะสลายการชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย ก็ทำให้เต็มไปด้วยข้อครหาว่า เหตุใดจึงมีการเข้าสลายชุมนุม ด้วยยุทธการ "ยิงนกในกรง" ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงอานุภาพการทำร้ายล้างสูงต่อผู้ชุมนุมมือเปล่า ซึ่งเป็นการยากที่ผู้มีอำนาจในการถืออาวุธเหล่านั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบ
ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะริเริ่มจาก "โมฆะบุรุษ" และ ตัวแสดงหลักในฐานะคู่ขัดแย้ง ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองอีกกี่ชุด ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สังคมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในการอยู่ร่วมกันอย่างสินติยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนสากล ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
เฉกเช่นที่เขาเคยหลอกลวงเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระบวนการที่ไร้ความจริงใจเหล่านี้ก็เป็นเพียงการซื้อเวลาซึ่งเริ่มเดินถอยหลังของผู้ที่จะกลายเป็นทรราชตนใหม่ของสังคมไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง