ไม่พบผลการค้นหา
EAST ทำความร้อนได้สูงถึง 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 101 วินาที และขยับขึ้นไปแตะ 160 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลาอีก 20 วินาที

ขณะที่แกนดวงอาทิตย์มีความร้อน 15 ล้านองศาเซลเซียส 'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' สัญชาติจีนสร้างอุณหภูมิได้สูงถึง 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 101 วินาที และขยับขึ้นไปแตะ 160 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลาอีก 20 วินาที

ทุบตัวเลขที่ 'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' สัญชาติเกาหลีใต้เคยทำไว้ เมื่อ ธ.ค.2563 ด้วยการสร้างอุณหภูมิ 100 ล้านองศาเซเลเซียส เป็นเวลา 20 วินาที ลงทันที


ไม่ใช่ 'ดวงอาทิตย์'
แต่คือ 'เตาปฏิกรณ์'

แม้หลายชาติจะมี 'ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์' เป็นของตัวเอง แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่สร้างความร้อนมหาศาลนี้คือ 'เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน' ประเภทโทคาแมค (Tokamak) ที่มีรูปร่างคล้ายโดนัท 

จีน ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์

สำหรับเตาปฏิกรณ์ที่เพิ่งสร้างสถิติใหม่นั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'EAST' ซึ่งย่อมาจาก Experimental Advanced Superconducting Tokamak โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพเหอเฟย์ มณฑลอานฮุย ประเทศจีน

ก่อนหน้านี้ EAST เคยทำสถิติความร้อนได้ราว 100 ล้านองศาเซลเซียส แต่สามารถคงระยะเวลาได้เพียง 10 วินาทีเท่านั้น 


เพื่อพลังงานสะอาด 

เป้าหมายสำคัญของ 'โทคาแมค' คือการเปลี่ยนความร้อนที่ได้มาจากการเลียนแบบการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่เกิดขึ้นบริเวณแกนกลางของดวงอาทิตย์ ให้กลายเป็นพลังงานสะอาดแก่มนุษยชาติ 

W020210531353918779150.jpg

ภายหลังการทำสถิติใหม่นี้ 'ลี เหมียว' ผู้อำนวยการภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางใต้แห่งประเทศจีน เผยว่า เป้าหมายถัดไปของเหล่านักวิจัยอยู่ที่การคงอุณหภูมิดังกล่าวให้คงที่ด้วยระยะเวลาที่นานขึ้น อาจจะราวหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น 

ขณะที่ 'ลิน โบเซียง' ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยเซียะเหมินเสริมว่า พลังงานที่สร้างขึ้นมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันนับเป็นพลังงานสะอาดและน่าเชื่อถือที่สุด หากสามารถพัฒนาต่อจนนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จะส่งผลดีมหาศาลต่อเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจากจีน ย้ำว่า เทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่แค่ขั้นทดลองเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30 ปี ก่อนจะนำออกมาจากห้องวิจัยได้ 

EAST เป็นส่วนหนึ่งของ 'ITER' หรือ International Thermonuclear Experimental Reactor ซึ่งเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์โลกที่มีชาติมหาอำนาจอย่าง สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และรัสเซีย เป็นสมาชิก 

นอกจากนี้ ITER ยังลงนามความร่วมมือทางเทคนิคกับชาติที่ไม่ใช่สมาชิกเช่นเดียวกัน อาทิ กับออสเตรเลีย ในปี 2559, คาซัคสถาน ในปี 2560 และ แคนาดาและไทยในปี 2561 

อ้างอิง; sciencealert, SCMP, phys.org, CNNC, GT, CAS