ไม่พบผลการค้นหา
"ต่อมาได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้"

"ครั้นใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจจะเกิดการปะทะกันได้"

"สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะขณะนี้ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน"

"ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกลในระบอบประชาธิไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทยก็คือ การคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปขึ้นใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป"

ทั้งหมดเป็นถ้อยของคำปรารภเหตุผลสำคัญตอนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลงนามเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 ประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย. 2549 เพื่อหวังว่าจะใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนอกรัฐสภาของการชุมนุมประท้วงโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทักษิณ ยุบสภา  ปี 2549   4069.jpg

วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 2548-2549 เริ่มต้นจากการขยายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากการประกาศแตกหักของสื่อมวลชนที่ชื่อ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หลังจากถูกระงับการออกอากาศรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นโนน์ทีวี (ช่อง 9) อย่างไม่มีกำหนดเมื่อเดือน ก.ย. 2548 จากการอ่านบทควาาม 'ลูกแกะหลงทาง' ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้อม

การจัดการรายการนอกสถานที่ของ 'สนธิ ลิ้มทองกุล' ได้ถูกพัฒนาการและยกระดับเป็นมวลชนเสื้อเหลือง 'กู้ชาติ' จัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถ.ราชดำเนินนอก เมื่อ 4-5 ก.พ. 2549 พร้อมทั้งมีการยื่นถวายฎีกาผ่าน พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป ไปถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และยังไปยังหนังสือเรียกร้องให้ทหารแสดงจุดยืนเลือกข้างต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

การชุมนุมยังขยายตัวเพิ่มขึ้นมีการแสดงความไม่พอใจจากการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวชินวัตรให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์

11 ก.พ. 2549 มวลชนกู้ชาติได้พัฒนาการยกระดับโดยมีแกนนำ 5 คน ซึ่งได้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากกลุ่มสันติอโศกเข้ามาร่วมเป็นหัวขบวนวางยุทธศาสตร์การเดินเกมของมวลชน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีการจัดชุมนุมใหญ่ท้องสนามหลวงและชุมนุมยืดเยื้อไม่มีกำหนด

การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้ตัดสินใจคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงยืนยันข้อเรียกร้องว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สนธิ พันธมิตรประชาชน ลิ้มทองกุล _Hkg138693.jpgสนธิ พะจุณณ์ พันธมิตร กู้ชาติ ปี 2549 รัฐประหาร 9054.jpg

ครั้งหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังการยุบสภาฯ ซึ่งเป็นประชุมหารือในส่วนราชการพลเรือนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติราชการหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรตอนหนึ่งถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า 5 ปีของการทำหน้าที่ของตนมาก็มีทั้งคนรัก คนเฉยๆ และคนเกลียด มันเป็นซินโดรมของการอยู่นาน เป็นอาการป่วยของการอยู่นาน แต่อยากบอกข้าราชการทุกคนว่าช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของประเทศขอให้ข้าราชการที่รักตน ขออย่าให้รักมากจนเดือดร้อน และขอให้ยึดหลักการกติกาบ้านเมือง อย่าแสดงความรักเป็นพิเศษและให้วางตัวให้เหมาะสมในฐานะข้าราชการประจำ

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นโดยปัญหาที่แท้จริง ว่า ถ้ามองทุกอย่างให้เป็นธรรมเป็นกลาง จุดของปัญหาขณะนี้คือความขัดแย้งทางความคิดของกลุ่มคนหนึ่ง เราเอาตัวแปรแทรกซ้อนออกไปก่อน เราเอาตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในสังคมตอนนี้

"เบื้องต้นเกิดจากการที่รัฐบาลเข้ามามีแนวคิด คิดใหม่ ทำใหม่ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังชอบคิดเก่า ทำเก่า อันนี้ก็เกิดความคิดว่าเมื่อคิดเก่าทำเก่า คิดใหม่ทำใหม่ มันต่างกันยังไง เอาเรื่องระบบเศรษฐกิจกับการพัฒนาประเทศก่อน คนบางคนกระแสขัดแย้งจะไม่เข้าใจโลกาภิวัฒน์คืออะไร เรื่องไร้พรมแดนคืออะไร อันนี้คือปัญหา เรื่องทุนนิยมสมัยใหม่ ทุนนิยมที่อิงโลกาภิวัฒน์ คนที่ไม่เข้าใจจะงัดความคลั่งชาติมา จะไม่มีโอกาสเข้าว่าวันนี้โลกไปถึงไหน แล้วเราต้องปรับตัวสู้กับเขาอย่างไร บางคนไม่เข้าใจโลกจะไปยังไง จะอยู่ของเราอย่างนี้"

"แต่ด้วยการคนหนึ่งไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยต้องการรักษาอยู่อย่างนั้น และวันนี้เขาต้องการรักษาร้านกาแฟให้อยู่ได้เท่านั้นเอง แต่ว่าขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็พัฒนาเติบโตได้ เพราะโลกเติบโต คนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนก็ไม่ต้องการเปลี่ยน แต่ในแง่ของประเทศนี่ เราจะต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้มีระบบเศรษฐกิจที่ดีได้ไหม ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศได้ไหม ถามว่าเม็ดเงินในประเทศพอสำหรับสร้างเศรษฐกิจไหม เม็ดเงินในประเทศพอจะแก้ปัญหาความยากจนไหม"

ทักษิณ โทนี่ ยุบสภา 24 กุมภาพันธ์ 2549 สมคิด ธนินท์ เจียรวนนท์ ซีพี  000_Hkg102913.jpg

พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่สวนลุม มาลานพระบรมรูปฯ และสนามหลวง เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเวทีที่ถูกต้องในระบอบรัฐสภา ในระบบประชาธิปไตยไม่ถูกนำมาใช้ รัฐบาลจะเปิดอภิปรายทั่วไปก็ไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะทำอะไรก็ไม่เห็นด้วยความจริงยังขาดอยู่คำเดียว อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตราเดียวห้าม 'ทักษิณ' เล่นการเมืองเท่านั้นเอง

"ผมจำเป็นต้องยุบสภา เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนโดยปวงชนเพื่อปวงชน เมื่อมีความขัดแย้งสังคมทางความคิด ผมไม่มองเรื่องผลประโยชน์ชนะทางการเมือง การสอบถามประชาชนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ประชาชนจะบอกว่าเชื่อ คือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องไปฟ้องประชาชนว่าอันนี้ไม่ดี โลกาภิวัฒน์ไม่ดี ประเทศไทยควรปิดตัวเองได้แล้ว กางมุ้งครอบซะ ไปฟ้องประชาชน แล้วขณะเดียวกันคนบอกโลกาภิวัฒน์ไปบอกประชาชน ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ไปบอกว่าประชาชนรากหญ้าไม่ฉลาด เพราะฉะนั้นผมจะตัดสินใจแทนประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมทางระบอบประชาธิปไตย ผมจึงได้กราบบังคมทูล ขอพระบรมราชานุญาตยุบสภาฯ เมื่อยุบสภาเสร็จก็ไม่พอใจ เพราะว่าเกรงว่าถ้าประชาชนโหวตมาให้ผมกลับมาใหม่ ก็จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการมาตราเดียว จึงเรียกร้องเงื่อนไขต่างๆ"

พ.ต.ท.ทักษิณยังพูดถึงการที่พรรคฝ่ายค้านเดิม 3 พรรคประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชนไม่ยอมลงเลือกตั้งว่า "ผมเข้าใจดีสไตล์คนตะวันตกชอบเจรจา ผมผ่านการเจรจาเยอะ คนตะวันตกนิยมเจรจาโดยใช้เล่นลูกแรงสุด (Hardball) ข้อดีส่วนใหญ่คู่ต่อสู้อ่อนแอจะถอยจะยอมแพ้ แต่ส่วนเสียถ้าคู่ต่อสู้แข็งแรงตัวเองจะม้วนกลับยาก เมื่อการเจรจาเป็นการเล่นลูกแรง ผมยึดหลักแน่น จึงม้วนกลับไม่ได้จนเป็นที่มาบอยคอตไม่เลือกตั้ง"

ทักษิณ โทนี่ เลือกตั้ง g145528.jpg

แม้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ และ 3 พรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมปฏิเสธอำนาจการตัดสินใจของประชาชน แต่ 'พรรคไทยรักไทย' ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น ได้ได้รับเสียงสนับสนุนในคะแนนแบบบัญชีรายชื่อกว่า 16 ล้านเสียง แบบแบ่งเขต 15 ล้านเสียง ส่วนไม่ประสงค์ลงคะแนนในแบบบัญชีรายชื่อ 8.3 ล้านเสียง และแบบแบ่งเขต 9.2 ล้านเสียง แม้การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ แต่ก็ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. 460 ที่นั่ง

เวลาต่อมา 20 ก.ค. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการประกาศให้มี พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 15 ต.ค. 2549

การประท้วงขับไล่ของมวลชนพันธมิตรฯ ได้ดีเดย์นัดหมาย 20 ก.ย. 2549 แต่เกิดมีการรัฐประหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นก่อนวันนัดหมายชุมนุมในค่ำคืน 19 ก.ย. 2549 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ รักษานายกรัฐมนตรีกำลังปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (UNGA) ครั้งที่ 61 ที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ย. 2549

แม้เวลาต่อมา พล.อ.สนธิ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เปิดแถลงข่าวถึงการตัดสินใจรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2549 โดยบ่ายเบี่ยงที่จะตอบเหตุผลสำคัญที่แท้จริง แต่ผู้นำรัฐประหารผู้นี้เลือกจะบอกเพียงว่า "สิ่งที่เราตัดสินใจมันเป็นสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นตัวกำหนดให้เราปฏิบัติ คงไม่มีใครมาชี้นำเรา แล้วก็บอกแล้วว่าเราดูเสียงของประชาชนเป็นหลัก"

เวลาต่อมา พล.อ.สนธิในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะระบุถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปฏิรูปการปกครองเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ทว่าเพราะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยปลอมๆ มาเป็นเผด็จการทุนนิยม ซึ่งการจะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยคงไม่ง่ายนัก

AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ เรืองโรจน์ กองทัพบก Hkg313318.jpgAFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ 6148 (1).jpg

ถ้ามองย้อนกลับไปดูเส้นทางนับแต่การรัฐประหารเพื่อโค่นล้มให้ 'ทักษิณ' พ้นจากเวทีการเมือง พร้อมกับการใช้อำนาจพิเศษของคณะรัฐประหารตั้งองค์กรที่ไม่ชอบธรรมขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำพรรคไทยรักไทยและพรากสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคไทยรักไทย

แต่ทว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ดีเอ็นเอพรรคไทยรักไทย และไอเดียของ 'ทักษิณ' ได้ถูกส่งต่อพันธุกรรมทางการเมืองมาสู่ 'พรรคพลังประชาชน' ภายใต้การนำของ 'สมัคร สุนทรเวช' หัวหน้าพรรคขณะนั้น

แม้การเลือกตั้งครั้งนั้นจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาใหม่ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แต่พรรคพลังประชาชน พรรคแถวสองของพรรคไทยรักไทย ยังสามารถได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง ด้วยคะแนนเสียงเกือบกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร กวาดที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ 233 เสียงจาก 500 ที่นั่ง สามารถรวบรวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และผลักให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคณะรัฐประหารต้องการให้เป็นพรรคการเมืองหลักในการจัดตั้งรัฐบาลประสบความพ่ายแพ้

รัฐประหารปี 2549 ไม่สามารถโค่นล้มผลผลิตทางการเมืองของ 'ทักษิณ' ได้

ถัดจากนั้นมาปี 2554 มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 แม้พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรคเมื่อปลายปี 2551 แต่ดีเอ็นเอทางการเมือง 'ทักษิณ' และ 'ไทยรักไทย' ยังคงถูกส่งต่อไปยังพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเพื่อไทยกวาดคะแนนเสียงถล่มทลายได้เสียงในสภาฯ เกินกึ่งหนึ่ง ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 กวาด ส.ส.เข้าสภาฯ 265 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียงจากคนทั้งประเทศถึง 15 ล้านเสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผลสำเร็จ

สมมติฐานการรัฐประหาร ยึดอำนาจโค่นล้ม 'ทักษิณ' กำจัดพรรคการเมืองขั้ว 'ไทยรักไทย' เพื่อหวังใช้คำว่า 'ปฏิรูป' ให้อีกฝ่ายได้ผลประโยชน์ทางการเมือง จึงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ตอบได้ว่า 'รัฐประหาร' แล้วจะทำให้ประชาชนสยบยอมให้กับอำนาจนอกระบบ หากมีการแสดงออกผ่านฉันทานุมัติด้วยกลไกการเลือกตั้ง

รัฐสภา ยิ่งลักษณ์ 0_Hkg5182066.jpg

แม้จะมีการรัฐประหารครั้งที่สองในวันที่ 22 พ.ค. 2557 เพื่อกำจัด 'ตระกูลชินวัตร' ออกจากเวทีทางการเมือง แต่ทว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ ปี 2560 สูตรคำนวณบัตรเขย่ง พา ส.ส.ปัดเศษเข้ารัฐสภา ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อ 'พรรคเพื่อไทย'

เมื่อพรรคเพื่อไทยยังคงคว้า ส.ส.เข้าสภาฯ ในแบบแบ่งเขตอย่างเดียว 136 เสียง จากการลงคะแนนเสียงของประชาชนกว่า 7.8 ล้านเสียง ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับที่หนึ่ง แม้จะส่ง ส.ส.ไม่ครบทุกเขตทั่วประเทศ แต่ด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ รวมทั้ง ส.ว. 250 คน ยังมาช่วยลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งทั่วไปในรอบ 3 ครั้งในรอบ 15 ปี นับจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อล้มดีเอ็นเอ 'ทักษิณ' แค่ชั่วครั้งเท่านั้น

การรัฐประหารในรอบ 2 ครั้งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีข้ออ้างเพื่อหยุดวิกฤตความขัดแย้งนอกรัฐสภา

แต่การรัฐประหารปี 2549 และ รัฐประหารปี 2557 ทำให้ถูกค้นพบว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อกดหัวประชาชนมากกว่าสร้างความสามัคคีปรองดอง และเกรงว่าเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่ออกมาจะตบหน้าคณะผู้ก่อการรัฐประหารเท่านั้น ทำให้คณะยึดอำนาจจึงต้องออกมาล้มกติกายึดอำนาจจากประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง