สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างดัชนีบำนาญโลก ในชื่อ “Melbourne Mercer Global Pensions Index” ระบุว่า ประเทศไทยทำคะแนนได้ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆ 37 ประเทศทั่วโลก คือ 39.4 คะแนน โดยประเทศที่ทำคะแนนได้สูงสุดคือ เดนมาร์ก กับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้คะแนนเกิน 80 คะแนน
รายงานซึ่งจัดทำโดยศูนย์ศึกษาการเงินโมนาส ในสังกัดมหาวิทยาลัยโมนาส ประเทศออสเตรเลีย ฉบับนี้ ใช้ตัวชี้วัด 40 ตัวในการประเมินว่า แต่ละประเทศมีการเตรียมความพร้อมดีแค่ไหนในการปรับปรุงรายได้ของคนวัยเกษียณในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ผลการศึกษา 37 ประเทศนี้ ครอบคลุมประชากร 2 ใน 3 ของโลก
ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกในการจัดระบบบำนาญเพื่อรองรับการครองชีพของคนวัยเกษียณ คือ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และชิลี
สำหรับประเทศในกลุ่มผู้ก่อตั้งอาเซียนนั้น สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 7 ตามด้วยมาเลเซีย (อันดับที่ 17) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 28) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 34) และประเทศไทย (อันดับที่ 37)
ในกรณีประเทศไทย รายงานได้ศึกษาระบบรายได้ของคนวัยเกษียณโดยดูจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรออกกฎหมายบังคับให้มีการออมขั้นต่ำเพื่อการเกษียณ และควรเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจ่ายในอัตราแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 600-1,000 บาท/เดือน.
ที่มา : Bloomberg ; Monash Centre for Financial Studies