ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงการคลังแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ หากเข้า CPTPP ต้องรับข้อเรียกร้องยกเลิกระเบียบที่กำหนดให้ รพ.รัฐซื้อยาจาก อภ.จะสร้างผลกระทบวงกว้าง แต่กลับไร้เงา สธ.ร่วมตัดสินใจ ด้านสภาเภสัชระบุ วิจัยพบ CPTPP ข้อกำหนดต่างๆ ด้านยาสร้างความเสียหายเป็นแสนล้านต่อปี

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานอนุกรรมการประเด็นจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการเตรีความพร้อมเข้า CPTPP ได้ทำหนังสือแจ้งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง​การต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อ 11 มิ.ย.2564 เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมพิจารณาด้วยว่าจะยอมรับข้อบทของ CPTPP ที่ให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยโรงพยาบาลรัฐต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้หรือไม่ พร้อมระบุว่าหากเปิดเสรีจะทำให้ อภ.มีความสามารถในการแข่งขันลดลง จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ในประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดหายา กระทรวงการคลังได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับบทบาท อภ. ไว้ 3 เรื่อง คือ

1.วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง อภ. ก็เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลเรื่องยา ทำหน้าที่เป็น Stabilizer หรือสร้างเสถียรภาพด้านราคายาในท้องตลาด หากไม่มี อภ. ราคายาทั่วไปก็จะถูกกำหนดโดยภาคเอกชน ทำให้ประชาชนต้องซื้อยาในราคาแพง

2.อภ.มีบทบาทในการพัฒนาขีดความสามารถและประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมยา หากสามารถเพิ่มขีดความสามารถแก่ อภ. จะทำให้ในอนาคตอุตสาหกรรมยาไทยอาจต้องพึ่งพาต่างประเทศ เช่น ไทยมีสถาบันวัคซีน ทำให้สามารถสะสมองค์ความรู้และพัฒนาจนผลิตวัคซีนเองได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาครัฐต้องสนับสนุนหรืออุดหนุนหน่วยงานประเภทนี้และพัฒนาให้เท่าเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐจำเป็นต้องกำหนดนโยบายช่วยให้รัฐวิสาหกิจสามารถแข่งขันกับเอกชนได้

3.อภ. มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องนำส่งรายได้ให้รัฐ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การจัดทำงบประมาณขาดดุลจำนวนมาก ดังนั้น การยกเว้นการนำส่งรายได้เข้ารัฐอาจทำได้ยากเพราะใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ระบุไว้ชัดเจน

กระทรวงการคลังให้ความเห็นด้วยว่า กระทรวงการคลังมีบทบาทเป็นผู้กำหนดให้โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาจาก อภ. ตามกฎกระทรวงและระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ซึ่งตามข้อบทของ CPTPP ได้กำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การยกเลิกข้อกำหนดนี้จะทำให้โรงพยาบาลของรัฐสามารถจัดซื้อยาได้เป็นการทั่วไปและความสามารถในการแข่งขันของ อภ.ลดลง จึงต้องฟังความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หาก สธ.ยอมรับประเด็นนี้ได้ กระทรวงการคลังก็สามารถแก้ไขกฎกระทรวงได้

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการเปิดเสรียาก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหารือกับ สธ. และพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะแม้ไทยจะมีบัญชียา แต่ยาจากต่างประเทศอาจทะลักเข้ามาและผู้ผลิตยาในประเทศจะเสียเปรียบ ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงมีมติว่า ต้องให้ สธ. พิจารณาว่าจะยอมรับพันธกรณีของ CPTPP ที่กำหนดให้ยกเลิกกฎระเบียบที่ให้โรงพยาบาลของรัฐต้องซื้อยาจาก อภ.ได้หรือไม่ ส่วนทางกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง สามารถปรับแก้ระเบียบตามผลการพิจารณาของ สธ.ได้ และยังต้องหารือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีสินค้ายากับ สธ.ด้วย

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหายาในระบบสาธารณสุขมากที่สุดไม่ได้รับการหารือแต่อย่างใด ขณะที่ คณะกรรมการ กนศ.จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วม CPTPP ต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆ นี้

ก่อนหน้านี้ สภาเภสัชกรรมได้ทำข้อเสนอต่อ กนศ. แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตยาและการเข้าถึงยาในประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่าอุตสาหกรรมมีขนาดเล็ก พึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก ในปี 2562 มีบริษัทที่มีขนาดตลาด 1,000 ล้านขึ้นไป เพียงร้อยละ 17 ( หรือ 21 แห่ง จาก 123 แห่ง) มีการคาดการณ์ผลกระทบของ CPTPP ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี (2562-2590) ว่าภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะเพิ่มขึ้น จากราคายาสูงขึ้น ประเทศไทยพึ่งพิงยานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสรุปมีดังนี้

1) ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นสูงสุด เฉลี่ยปีละ 14,000 ล้านบาท

2) อัตราส่วนการพึ่งพิงนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก ปัจจุบันร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89

3) มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท