19 ก.ค.2565 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 'สุทิน คลังแสง' จากพรรคเพื่อไทยให้ภาพรวมที่ครบถ้วน ผนวกกับ ‘นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง’ จากพรรคก้าวไกล ที่ให้ภาพการลักไก่ช่องว่างทางกฎหมาย และการออกมาตรการปลอมๆ แก้เก้อ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คนต่างออกตัวว่าไม่ได้คัดค้านเรื่องกัญชาอย่างสุดลิ่ม แต่การปลดล็อคให้เสรีโดยไม่ควบคุมสร้างปัญหาเยอะ และแม้แต่คนที่มุ่งหวังเรื่องเศรษฐกิจ อนาคตอาจไม่สดใสอย่างที่คิดจึงต้องเตือนให้ระวังตัว ปรับตัวกันไว้ก่อน
สุทินเปิดฉากด้วยการบอกว่า นโยบายกัญชากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ตั้งแต่สมัยอนุทินหาเสียงก่อนเลือกตั้งปี 2562 ว่า
"กัญชาเป็นยาพารวย กัญชาเป็นยารักษาโรค พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป พวกเราปลูกได้บ้านละ 6 ต้น...นำไปปรุงอาหารได้ นำไปรักษาโรคได้ และนำมาพี้สูบกันเองก็ได้ แต่อย่าเดินออกนอกบ้าน อย่าพกพาไปทีอื่นเป็นอันขาด มีคนละ 6 ต้นแล้ว ไม่ต้องซื้อกัน เอาไปขายให้องค์กรภาครัฐที่จะตั้งขึ้นมา กิโลละ 70,o00 บาท ไม่รวยวันนี้จะรวยวันไหน"
สุทินบอกว่านโยบายนี้ละเมิด 3 ระดับ
1.ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
สนธิสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดของยูเอ็นกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง จนถึงปี 2563 โลกเริ่มเห็นประโยชน์ของกัญชาจึงผ่อนคลายให้ใช้ทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น โดยมีมาตรการดูแลเข้มงวดมาก
ประเทศไทยก็ได้แก้ไขกฎหมายยาเสพติดในปี 2563 ประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐสภาเป็นคนปลดล็อกกัญชา แต่คนปลดล็อคจริงๆ คือ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สภาในวันนั้นเพียงแต่ 'ว่างไว้' ให้ สธ.โดยคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติไปประกาศตามสมควร และ สธ.ก็ออกประกาศ 'ปลดปล่อยกัญชาไม่ให้เป็นยาเสพติด' มีผลวันที่ 9 มิ.ย.2565
หลังจากนั้นมีการนำเสนอ พ.ร.บ.กัญชากัญชง และผ่านวาระ 1 ง่ายดาย สุทินบอกว่า สภาจำเป็นต้องยกมือให้เพราะปลดล็อคก่อนโดยยังไม่มีอะไรควบคุมเลย จึงไม่มีทางเลือก ขณะนี้กำลังติดตามลงรายละเอียดกันอยู่ในชั้นกรรมาธิการ
องค์กรควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ หน่วยงานของยูเอ็น มีผู้อำนวยการคือ ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ให้ข้อมูลกับสุทินหลังจากหมดวาระไม่นานนี้ว่า สิ่งทีรัฐบาลทำขัดกับอนุสัญญาเดี่ยวทั้งหมด และเขากำลังรอให้เรากระทำความผิดให้สำเร็จเสียก่อน
เปรียบเทียบกับต่างประเทศ ในโลกนี้มี 2 ประเทศทีละเมิดอนุสัญญายาเสพติดหนัก คือ แคนาดากับอุรุกวัยเพราะเปิดเสรี และกำลังถูกคว่ำบาตร ประธานาธิบดีอุรุกวัยขณะนี้กล่าวกับสภาว่า กัญชาเสรีเป็นมรดกบาปจากรัฐบาลก่อน
2.ละเมิดรัฐสภา
มติรัฐสภาไม่ได้ให้ไปปลดล็อค ให้ทำได้เพียงการแพทย์และการวิจัย แต่สธ.เลยเถิดไปจนถึงให้เกิดอุตสาหกรรม และสันทนาการ เลขาอย.เคยท้วงติงว่ายูเอ็นยังไม่ปลดล็อค ไม่นานก็โดนเด้ง ในการประชุม ครม.ก่อนออกประกาศกระทรวงสธ. รัฐมนตรียุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน กังวลว่าจะไม่ขัดกับอนุสัญญาเดี่ยวหรือ นายกฯ ก็บอกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน "เอากัญชาของเราให้ผ่านก่อน" แบบนี้ก็เพราะกลัวพรรคร่วมถอนตัว
ประกาศของ สธ. ถ้ายื่นตีความน่าจะโมฆะ เพราะรัฐสภาไม่ได้ให้ทำขนาดนั้น ถ้าเพื่อการวิจัย เพื่อการแพทย์ ทำได้ แต่นี่ไปไกลจนแม้แต่ ส.ว.ก็ท้วงติง อย่างไรก็ดี สุทินบอกว่า กฎหมายที่กำลังจะออกมาก็ยังเป็น ‘เสรี’ อยู่ดี เพราะในทางปฏิบัติไม่มีใครตรวจสาร THC ได้ว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์
3.ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ที่กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาอารยะประเทศและให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ นั่นแปลว่าจะละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยยาเสพติดไม่ได้
หลังปลดปล่อยกัญชาเสรีโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 9 มิ.ย. มีการขายกัญชาในส่วนดอกเพื่อการเสพกันในพื้นที่ต่างๆ มีการเสพในที่สาธารณะ มีการเสพในกลุ่มเยาวชน ตามภาพในโซเชียล ตามข่าว สมาคมกุมารแพทย์แถลงไม่เห็นด้วยที่จะปลดล็อกเพราะกัญชามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กขัดเจน รวมถึงองค์กรเกี่ยวกับสาธารณสุขหลายอื่นๆ อีก เช่น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ประกอบกับรัฐส่งสัญญาณผิดๆ ว่ากัญชาคือยาวิเศษ มีแต่ประโยชน์ ทำให้คนไม่รู้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไร จึงมีกินกัญชาผสมอาหารกันและได้รับผลกระทบต้องเข้ารพ.กันจำนวนไม่น้อย
กรณีที่บอกว่ากัญชาจะสร้างเศรษฐกิจ เมื่อปลดล็อคแล้วเกิดวิสาหกิจมากมาย ลงทุนปลูกด้วยเงินจำนวนมาก เพราะกัญชาต้องปลูกในระบบปิด คำถามคือ จะขายที่ไหน เพราะทุกประเทศทั่วโลกเขาถือว่าเป็นยาเสพติดอยู่ 8 ประเทศเตือนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้ว บางคนอาจบอกว่าขายในอุตสาหกรรม แต่อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดระบุว่า รัฐภาคีที่จะขายกัญชาเพื่ออุตสาหกรรมยา จะต้องตั้งองค์กรเฉพาะพิจารณาอนุญาตให้ปลูก กำหนดโซนิ่ง รายงานต่อองค์กรระหว่างประเทศ และต้องขายให้องค์กรนี้เท่านั้นในการส่งออก จะเจรจาซื้อขายกันเองไม่ได้ ที่สำคัญ การปลูกมาแปรรูปเป็นยาต้องได้ THC ได้ระดับ มีสเป๊คสูงมากในการปลูก ชาวบ้านไม่มีทางทำได้ ที่แจก 10 ต้นก็ขายไม่ได้เพียงเอาไว้บริโภค ซึ่งจริงๆ ในต่างประเทศที่เปิดเสรีบ้าง เขาคุมโซนนิ่งและจำกัดผู้ใช้จำกัดปริมาณกันหมด แต่ของไทยปล่อยทั้งประเทศ
สรุปแล้วทางการแพทย์นั้นอาจดี ทางเศรษฐกิจยังมีคำถามมาก แล้วหวังอะไร ท่านมีประโยชน์ทับซ้อน ประโยชน์ข้อแรกประโยชน์ทางการเมือง พูดกับประชาชนแล้วก็ทำ อยากได้คะแนน นายกฯ ก็อยากอยู่ต่อเลยยอมทุกอย่าง ไม่คำนึงถึงเด็ก ไม่คำนึงถึงภาพพจน์ประเทศ
ผลประโยชน์ต่อมา นักการเมืองใหญ่ทำไร่กัญชาที่ประเทศเพื่อนบ้าน ลือกันหมดว่าไปทำที่ลาว หลังวันที่ 9 มิ.ย. ดอกกัญชาวางขายตามร้าน เรียกว่าวางแผนไว้ก่อนไหม และคนกระซิบว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาคุยบางอย่างกับนักการเมืองไทย
นอกจากนี้เครือชิโน-ไทยลุยธุรกิจกัญชงเต็มที่ มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงธุรกิจเมื่อปี 2564 รัฐมนตรีโอนทรัพย์สินออกหมดแล้วไปที่เกียรตินาคินภัทร แต่เกียรตินาคินฯ ก็ถือหุ้นในบริษัทเครือชิโน-ไทยที่ทำธุรกิจกัญชงด้วย เวลาได้ปันผลมันถึงท่านไหม
ด้านหมอวาโย เริ่มต้นด้วยการพูดถึงประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์ว่า แม้กรมการแพทย์จะรับรองว่ากัญมีประโยชน์กับอย่างน้อย 6 โรคหรืออาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท แต่สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์แย้งว่า ไม่มีข้อมูลในการใช้ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน หรือบางโรคนั้นได้ผลครอบคลุมเฉพาะบางลักษณะ ทั้งอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ส่วนประกอบของต้นกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชามากกว่า ส่วนงานวิจัยจาก UNOSC บอกว่าการปลดล็อคกัญชาจะทำให้ 1.ผู้ใช้กัญชามีจำนวนมากขึ้น 2.มีผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น 3.ผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
ที่น่าสนใจก็คือ ไทม์ไลน์ของการออกกฎหมายของประเทศไทย หมอวาโยบอกว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยปลดล็อก ‘กัญชาทางการแพทย์’ ตั้งแต่อนุทินเข้ามารับตำแหน่งแล้ว โดยมีการแก้ไขกฎหมายาเสพติดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พ.ศ. 2562
“ผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งกัญชาให้แก่ 7 กลุ่ม (1) หน่วยงานรัฐ (2) ผู้ประกอบวิชาชีพ (3) สถาบันอุดมศึกษา (4) รัฐวิสาหชุมชน (5) ผู้ขนส่ง (6) ผู้ป่วยที่ต้องเดินทางข้ามประเทศ (7) ผู้อื่นที่รัฐมนตรีอนุญาต” มาตรา 26/5
หมอวาโยกล่าวถึงปัญหา ‘สุญญากาศทางกฎหมาย’ ของกัญชาด้วยว่า มันเริ่มต้นมาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้กัญชาพ้นจากยาเสพติดประเภท 5 มีผลเมื่อ 9 มิ.ย.65 หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรควบคุมเลยหลายวัน เพราะกฎหมายหลักยังคาอยู่ในการพิจารณาของสภา
วาโยเน้นว่า พรรคภูมิใจไทยจงใจให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย โดยเราสามารถพิจารณาจากไทม์ไลน์ได้ว่า
26 ม.ค.65 ส่งร่างกฎหมายปลดล็อคกัญชาเสรี
27 ม.ค.65 สภารับ
4 ก.พ.65 ประธานสภาชี้เป็นร่างพ.ร.บ. เกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งให้นายกฯ พิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญ
9 ก.พ. 65 ส่งให้นายกฯ
18 ก.พ.65 นายกฯ อนุมัติ
22 ก.พ.65 ส่งกลับสภา
---- ปิดสมัยประชุม ----
25 พ.ค.65 บรรุเข้าวาระการพิจารณาในสภา
8 มิ.ย.65 สภาพิจารณา และ ตั้ง กมธ.
9 มิ.ย.65 กัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติด
หมอวาโยระบุว่า จากไทม์ไลน์แสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์การยื่นพิจารณาที่ล่าช้า ใกล้ปิดสมัยการประชุม ทำให้มีช่องว่างทางกฎหมาย จำนวน 120 วัน หรือระยะเวลา 4 เดือน ทำให้ไม่สามารถออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาได้ทัน เพื่อเป็นการดึงเวลาการขายกัญชาเสรีให้กลุ่มนายทุนที่ทำการลงทุนปลูกกัญชาไปแล้วในช่วงนั้น
วันที่ 8 มิ.ย.65 ก่อนวันประกาศปลดล็อคกัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติด อนุทินสามารถออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อที่จะเลื่อนเวลาออกไปได้ เพราะตัวกฎหมายหลักยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา แต่กลับไม่ขยายเวลา คำถามคือ ทำไม
อย่างไรก็ดี 9 มิ.ย. กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ก็เกิดสุญญากาศทางกฎหมาย จนวันที่ 16 มิ.ย.สธ.จึงประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุม แต่กฎหมายหลักของเรื่องนี้เป็นการคุ้มครองสมุนไพร ดังนั้น ประกาศดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการควบคุมการวิจัย ส่งออก จำหน่าย และแปรรูปกัญชาเพื่อจำหน่าย ต้องทำการขอใบอนุญาต ซึ่งเป็นการคุ้มครองตัวสมุนไพรมากกว่าการคุ้มครองประชาชน และเป็นการกีดกันผู้ค้ารายเล็กหรือ ประชาชนทั่วไป เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนขนาดใหญ่
อนุทิน เจ้ากระทรวงตอบคำถามยืนยันว่า กฎหมายที่กำลังจะผ่านจะครอบคลุมความกังวลต่างๆ กฎหมายรวบรวมความเห็นทุกฝ่าย ขอความกรุณาของสองสภาให้ช่วยเร่งให้ออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว คาดหวังให้เสร็จสิ้นภายในสมัยประชุมสภานี้
การควบคุม การเข้าถึงของเยาวชนและกลุ่มเปราะบางมีประกาศออกมาแล้ว การควบคุมปรุงอาหารสำเร็จ ก็มีประกาศกรมอนามัยเรื่องการนำใบกัญชามาใช้หรือปรุงอาหารแล้วเช่นกัน
เรื่องที่กังวลว่าจะขัดกติการะหว่างประเทศ สำหรับเรื่องกัญชาประเทศไทยเราไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามประเทศอื่่น
“เราเป็นตัวของเรา ไม่ผิดข้อตกลงใดๆ ที่เรามี แต่เน้นให้โอกาสทางเศรษฐกิจของเกษตรกร คนทำมาหากินโดยสุจริตให้สร้างรายได้เสริมให้ตัวเอง ให้ผู้ประกอบการได้ทำเป็นอุตสาหกรรม เกิดการจ้างงาน จริงๆ แล้วส่งออกได้ บางประเทศเขาก็รับ และการจะส่งออกได้หรือไม่ไม่ใช่เรื่องของพวกเราแต่เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่จะจัดการเอง”
ส่วนคำถามว่า กฎหมายหลักยังไม่ออก ทำไมไม่ออกประกาศเลื่อนการปลดล็อคกัญชาจากยาเสพติดที่จะมีผลบังคับใช้ 9 มิ.ยงออกไปอีก ชี้แจงว่า เรื่องนี้เราไม่สามารถรอเพียงเพื่อความห่วงใยในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้
นอกจากนี้อนุทินยังย้ำว่า ประกาศของ สธ. รัฐมนตรีว่าการต้องประกาศตามคำแนะนำหรือมติของคณะกรรมการ ปปส. ไม่สามารถประกาศได้ด้วยตัวเอง ซึ่งปปส.มีมติตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้วด้วย ก็ขยายมาแล้ว 120 วัน จากนั้นจึงไม่คิดจะเลื่อนอีก เพราะกระบวนการทุกอย่างได้ทำตามที่สมควรแก่เหตุแล้ว
ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทในเครือซิโน-ไทย อนุทินบอกว่าเป็นดังที่เคยชี้แจงแล้วว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้เขาขออนุญาตทำธุรกิจกัญชงจริงแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ
สิ่งน่าสนใจคือ อภิปรายอนุทินทีไร ไม่ทันไรนอกห้องอภิปรายจะมี #ทีมอนุทิน แถลงข่าวชี้แจงแก้เกมอีกรอบ ครั้งนี้ศุภชัย ใจสมุทร นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ว่า ดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1961 ซึ่งนั่นอาจไม่ตรงประเด็นอภิปรายเสียทีเดียว เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแพทย์หรือการวิจัย