ไม่พบผลการค้นหา
สิ้นเสียงระเบิดหลายจุดทั่วกรุง พนักงานกวาดถนนกลายเป็นผู้โชคร้ายได้รับบาดเจ็บ คำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องหันกลับมามองดูความเสี่ยงภัยของพวกเขาอย่างจริงจัง

เสียงระเบิดดังสนั่น กลุ่มควันสีขาวพวยพุ่งหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้โชคร้ายคือ 3 พนักงานกวาดถนน ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ย่านพระราม 9

2 ใน 3 แก้วหูทะลุ แก้วตาถลอก และมีบาดแผลอื่นๆ ตามใบหน้า

นอกเหนือจากการตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีและค้นหาสาเหตุการกระทำ

สิ่งหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจก็คือความเสี่ยงภัยของ “อาชีพพนักงานกวาดถนน” ที่กำลังเผชิญหน้ากับอันตรายที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทั้งรถรา คนเมาแล้วขับ มิจฉาชีพ มลพิษ รวมไปถึงระเบิด  


รถคืออันตรายเบอร์ 1  

พนักงานกวาดถนนของกรุงเทพฯ มีจำนวนประมาณ 9,725 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่เขตทั้ง 50 เขต จำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปตามความหนาแน่นของชุมชนและขนาดของพื้นที่

แบ่งเวลาปฏิบัติงานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 5.00 – 13.00 น. กลุ่มที่สองปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 13.00 – 21.00 น.

พนักงานแต่ละคนรับผิดชอบพื้นที่ 500 – 1,000 เมตร บางคนอาจจะต้องเพิ่มเวลาปฏิบัติงาน หากได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกเวลาและบางพื้นที่อาจมีการสลับหมุนเวียนการปฏิบัติงานกันตามความจำเป็น หากมีกิจกรรมพิเศษ เช่น วันสำคัญ , กิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดหรือปลูกต้นไม้ , กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ตามคำร้องของประชาชน พนักงานกวาดถนนเหล่านี้ก็ต้องมีหน้าที่ในการมาร่วมกิจกรรม


พนักงานกวาดถนน

(อารมณ์ ศรแก้วดารา)

ภัยร้ายสำคัญที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับพนักงาน คือ การขับขี่

“อย่าประมาท อันตรายมีอยู่ทุกเวลาบนท้องถนน พยายามรอบคอบในการทำงาน ดูรถรา ดูแลตัวเอง สวมเสื้อสะท้อนแสง มีสติในการทำงานให้มากที่สุด” อารมณ์ ศรแก้วดารา พนักงานกวาดถนน สำนักงานเขตดินแดง บอกถึงสิ่งที่ตัวเองตระหนักและยึดถือมาตลอด 25 ปี

ธนัชพร โพธิ์ทอง สวมชุดสีเขียวสะท้อนแสงสดใส จากสำนักงานเขตพญาไท บอกว่า รถคือสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด โดยเฉพาะรถสาธารณะที่บางพวกขับชิดซ้ายด้วยความเร็ว

“ไม่รู้จะรีบไปไหน ไม่ชะลอเลย เฉียดเรามาก” ลูกจ้างวัย 45 ปีตัดพ้อผ่านผ้าปิดปากป้องกันมลพิษ “ไม่รู้อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่”

นอกจากรถยนต์อีกเรื่องที่น่ากลัวคือ “มนุษย์ร่วมสังคม”

นาตยา รังษิโย รับบทบาทกวาดถนนมาแล้ว 15 ปี เล่าว่า ช่วงเวลาเช้ามืดและกลางคืน ต้องระมัดระวังผู้คนอย่างมาก ทั้งพวกมึนเมา เด็กแว้น และคนจรจัด

“พยายามสังเกต ใครดูมีพิรุธต้องสงสัย ไม่เข้าใกล้ ออกห่างไว้ก่อน” เธอบอกว่าสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย เป็นกฎและคำสั่งกำชับอยู่แล้วว่า “อย่าเข้าใกล้หรือแตะต้องเด็ดขาด” ให้แจ้งหัวหน้างานหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

วัชราภรณ์ ผลเจริญ พนักงานกวาดวัย 36 ปี เล่าว่า เพื่อนเคยเจอคนสติไม่ดีใช้ไม้ตีเข้าที่ศีรษะอย่างฉับพลัน เย็บไปหลายสิบเข็ม ขณะทำหน้าที่ย่านถนนพหลโยธิน

“กลางคืนมีพวกขี้เมา เดินผ่านก็รู้สึกกลัวนะ แต่ก็พยายามระวังและไม่ไปเข้าใกล้”


พนักงานกวาดถนน

(นาตยา รังษิโย)

เจนนิรา แก้วศรี อายุ 23 ปี สวมหมวกปิดใบหน้าป้องกันแสงแดด ก้มๆ เงยๆ มุ่งมั่นกับภารกิจอยู่ย่านอินทามระ บอกว่า คนเมา คนสติไม่ดี สร้างความลำบากใจระหว่างทำงานอย่างมาก รู้สึกเหมือนไม่ปลอดภัยอยู่ตลอด

“ระแวง เขาจะทำอะไรเราหรือเปล่า” เจนอธิบายพร้อมเสนอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อประโยชน์กับทุกคนในสังคม รวมถึงมีสวัสดิการค่าเสี่ยงภัยอันตรายให้กับพนักงานกวาดถนน

วาสนา ไตรราช อายุ 55 ปี ประสบการณ์ล้นเหลือกว่า 31 ปีเคยเอ่ยปากตักเตือนชายสติไม่ดี ที่เอาขยะมาเททิ้งบนท้องถนน ก่อนเจอฟาดด้วยท่อแป๊บจนได้เลือด  

“ป้าเข้าบอกไปเขาว่า เททิ้งทำไมมันสกปรก เขาไม่พอใจ หยิบท่อมาฟาด ป้าเอาแขนกันมือแตกเลยทีนี้ ได้แท็กซี่พาไปส่งโรงพยาบาลเย็บไปหลายเข็ม”

จากการพูดคุยกับพนักงานกวาดหลายคน ทั้งหมดยกให้รถยนต์เป็นความเสี่ยงภัยอันดับ 1 รองลงมาคือ คน

ขณะที่ระเบิดหรือสิ่งแปลกปลอม พวกบอกว่า “กลัว” แต่เนื่องจากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้รู้สึกไกลตัว อย่างไรก็ตามทุกคนพยายามสังเกตและระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น


กวาดถนน

ให้ความรู้สม่ำเสมอ

บูรฉัตร นามการ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด ชำนาญงาน สำนักงานเขตดินแดง บอกว่า พยายามสื่อสารและให้ความรู้กับทีมงานสม่ำเสมอในการทำหน้าที่และระมัดระวังตัวเองจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะสิ่งแปลกปลอม หากผิดสังเกตห้ามเชี่ยคุ้ย รีบแจ้งผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

นอกจากนี้ยังกำชับว่าอย่าไปสร้างความเข้าใจผิดหรือตื่นตระหนกเพิ่มเติมให้ประชาชน เช่น วางถุงขยะสีดำไว้ริมทาง เนื่องจากอาจถูกตีความว่าเป็นวัตถุอันตราย

สำหรับพนักงานกวาดถนน มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละวันตามที่ได้รับมอบหมายโดยสรุปคือ

  • กวาดทำความสะอาดผิวถนน ทางเท้า เก็บกวาดขยะและใบไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ
  • ทำความสะอาดตะแกรงรองรับน้ำฝน กันขยะตกลงไปในท่อระบายน้ำ
  • กวาดทำความสะอาดสะพานลอยคนข้ามในพื้นที่รับผิดชอบ
  • ทำความสะอาดถังขยะ เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ที่พักผู้โดยสาร ป้ายสัญญาณจราจร และแกะ ล้าง โปสเตอร์ที่มีผู้ลักลอบนำมาติดในที่สาธารณะ
  • รายงานข้อบกพร่องของทางเท้าการหักโค่นของต้นไม้ หรือความบกพร่องของสาธารณสมบัติที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ
เศรษฐกิจ-ป้ายรถเมล์-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แรงงาน-กวาดขยะ

ตายเฉลี่ย 4-5 คน - ไร้ค่าเสี่ยงภัย

สุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีพนักงานกวาดถนนรวมทั้งสิ้นราว 9,725 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 8,311 คน ชาย 1,383 คน ช่วง 3 ปีย้อนหลัง (ปี 57-59) มียอดผู้เสียชีวิต 11 คน ทั้งหมดเกิดจากอุบัติเหตุ

ขณะที่ข้อมูลล่าสุด ปี 2560 มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 30 คน เสียชีวิต 5 คน โดย “เมาแล้วขับ” กลายเป็นสาเหตุหลักเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและมีผลให้พนักงานเสียชีวิต

ในประเด็นเรื่องวัตถุอันตราย ที่ผ่านมา กทม.มีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการสังเกตวัตถุโดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด EOD จัดต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อปี 2558 ปีละ 5-6 รุ่น รุ่นละ 120 คน

“ปีละ 600–700 คนที่ได้รับการอบรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวหน้างาน เราต้องการให้พวกเขานำไปสื่อสารต่อกับลูกน้องเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ”

สุธิศา เล่าว่า เจ้าหน้าที่ EOD จะให้ความรู้โดยเน้นย้ำเรื่องการสังเกต ตัวอย่างเช่น เป็นสิ่งของที่ไม่เคยพบเห็นในบริเวณนั้นมาก่อน เป็นสิ่งของไร้เจ้าของ เป็นสิ่งของที่ไม่ควรอยู่บริเวณนั้น หรือเป็นสิ่งของที่ลักษณะภายนอกผิดปกติ เป็นต้น

ปัจจุบันพนักงานกวาด กทม. แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ชั่วคราว และประจำ เงินเดือนเริ่มต้นรวมค่าครองชีพ อยู่ที่ 12,000 บาท เลื่อนขั้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง คือ 1 เมษายน กับ 1 ตุลาคม

ขณะที่สวัสดิการแตกต่างกันตรงสิทธิรักษาพยาบาลของตัวเองและคนในครอบครัวทั้ง พ่อ แม่ ลูก สามี-ภรรยา และค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงสิทธิกู้ยืมต่างๆ ที่พนักงานประจำจะได้ครอบคลุมมากกว่า และใกล้เคียงกับข้าราชการ โดยเมื่อเกษียณอายุ จะไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลต่อ แต่ยังคงได้รับบำเหน็จรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต

ผอ.สำนักงานจัดการมูลฝอยฯ ยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มี “ค่าเสี่ยงภัย” ให้กับพนักงานกวาดถนน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและในอดีตสภากรุงเทพฯ เคยมีความพยายามผลักดันมาแล้ว อย่างไรก็ตามยังคงติดขัดเรื่องงบประมาณ โดยเตรียมพิจารณาอย่างจริงจังในอนาคต

“ค่าเสี่ยงภัยของอาชีพนี้ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพิจารณา” เธอยืนยันถึงสิ่งที่ลูกจ้างต้องการ


พนักงานกวาดถนน-กทม.พนักงานกวาดถนน

ภาพโดย - สุรศักดิ์​ บงกชขจร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog